10 ความผิดปกติ และโรคที่มาพร้อมการนอนไม่หลับ หรือนอนดึก
1. ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน
เพราะการนอนไม่พอ หรือหลับไม่สนิท ทำให้ระบบในร่างกายต่างๆปรวนแปร ด้วยเหตุนี้ระบบจึงหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin Hormone) ที่เกี่ยวกับความหิว และความอยากอาหร และฮอร์โมนเลปติน (Leptin Hormone) ที่เกี่ยวกับความรู้สึกอิ่มในปริมาณทีผิดปกติ จึงมีผลทำให้คนที่นอนดึก หรืออดนอน ผิวปกติและอยากกินอาหารตลอดเวลา
2.โรคเบาหวาน
การอดนอนทำให้เกิดความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด ทำให้น้ำตาลในเลือดไม่เพียงพอ ส่งผลให้เราต้องรับประทานมากยิ่งขึ้น อาการจะคล้ายกับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Diabates Type 2)
3. ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง
สังเกตได้ว่า หลังจากที่เรานอนดึกติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น อ่านหนังสือก่อนสอบ ทำงานจนดึก ร่างกายจะไม่แข็งแรง และลงท้ายด้วยอาการป่วย เช่น หวัด นั่นเป็นเพราะ เมื่อร่างกายไม่ได้พักผ่อน ฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ชนิดซ่อมแซมร่างกายซึ่งออกมาในช่วงที่เรานอนหลับ ก็ออกมาทำงานไม่ได้ หรือทำงานได้ไม่เต็มที่
4. ระบบย่อยอาหารผิดปกติ
เมื่อนอนไม่หลับ ร่างกายจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 เพื่อจัดการระดับน้ำตาลในเลือด หลังจากที่เรารับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเข้าไป นอกจากนี้การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงนานๆ จะทำให้ร่างกายแก่เร็วด้วย
5. ระบบจัดเก็บความทรงจำหรือระบบประสาทมีประสิทธิภาพลดลง
อวัยวะสำคัญที่เกี่ยวกับความทรงจำ คือ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) มีบทบาทสำคัญในการถ่ายโอนข้อมูลที่เรียนรู้ในระหว่างวันเข้าสู่การสร้างความทรงจำระยะยาว ทั้งนี้ฮิปโปแคมปัสทำงานตอนที่เรานอนหลับเท่านั้น และทำงานได้ดีหากร่างกายพักผ่อนได้เพียงพอ
6. ความดันโลหิตสูง
ข้อมูลจากสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย เผยว่าการนอนเพียงพอและอาการผิดปกติในการนอน โดยเฉพาะการนอนกรน นอนไม่หลับ นอนน้อยเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่นอนน้อยกว่าหกชั่วโมงจะมีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิจสูงกว่าคนทั่วไป ยิ่งนอนน้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งเสี่ยงว่าความดันโลหิตจะสูงมากขึ้น
7. โรคหัวใจ
ข้อมูลจากสถาบันการนอนหลับแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกาชี้ให้เห็นว่า ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ซึ่งมีประวัตินอนน้อยกว่าหกชั่วโมงมีความเสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจวายเฉียบพลันสูงกว่าคนที่นอนมากกว่าหกชั่วโมงถึงสองเท่า สาเหตุเกิดจากเมื่อร่างกายไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ ร่างกายจะมีปัญหาด้านการเผาผลาญพลังงานและความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคหัวใจ
8. ซึมเศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย
ข้อมูลวิจัยจากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยว่าจากการศึกษาวัยรุ่นจำนวน 16,000 คน พบว่าผู้ที่เข้านอนช่วง 0.00 น. และหลัง 0.00 น. ไปแล้วมีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าวัยรุ่นที่เข้านอนช่วง 22.00 น. ถึงร้อยละ 24 และมีความคิดฆ่าตัวตายมากกว่าวัยรุ่นอีกกลุ่มถึงร้อยละ 20 โดยสาเหตุเกิดจากความเครียดและอารมณ์ที่ขุ่นมัวจากการนอนไม่พอ
9. เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
สาเหตุที่นอนไม่พอทำให้ความต้องการทางเพศลดลงนั้น เนื่องจากฮอร์โมนที่แปรปรวนจากการนอนไม่พอ ทำให้ฮอร์โมนเพศทำงานได้ไม่เต็มที่ ความต้องการทางเพศจึงลดลง
10. ผิวหนังมีปัญหา
เมื่อเราเข้านอนดึกซึ่งเป็นเวลาที่ร่างกายไม่หลั่งโกร๊ธฮอร์โมนหรือหลั่งน้อย ร่างกายจะไม่ได้รับฮอร์โมนที่ช่วยซ่อมแซมร่างกายและทำให้ดูเด็ก นอกจากนี้ยังไม่ได้รับเมลาโทนิน เพราะเมลาโทนินสร้างมากที่สุดในเวลากลางคืน
ขณะที่เรานอนหลับ ถ้าอดนอนหรือนอนน้อยก็จะทำให้การสร้างเมลาโทนินลดลง ส่งผลให้เกิดการอักเสบหรือภูมิแพ้ของผิวหนังได้ง่ายขึ้น
ส่วนหนึ่งจากหนังสือ นอนถูกวิธี สุขภาพดีตลอดชีวิต
ขอขอบคุณรูปภาพจาก : mccormickhospital ,psychologytoday ,Bangkok Hospital