รายละเอียด : เข็นเด็กขึ้นภูเขา
บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ลืมความรู้สึกเมื่อยังเป็นเด็ก ตอนที่ยังเล็กๆ เรามีความสุขกับสิ่งง่ายๆ อยู่กับปัจจุบัน แต่พอเป็นผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้น ทำให้ต้องพะวงถึงอนาคต หมกหมุ่นกับการทำงาน เพื่ออะไรหลายๆ อย่างที่คิดว่าคงจะดี
ลึกๆ ก็คงมีความหวังว่า สิ่งที่ทำจะทำให้มีความสุขในระยะยาว แต่จริงๆ แล้วชีวิตคนเราไม่ได้ยีนยาวนัก กว่าจะพบความสุขในบั้นปลายที่ผ่านพ้นความเคร่งเครียดของการเป็นผู้ใหญ ก็ทำให้เหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจ
บางครั้งจึงจำเป็นที่ผู้ใหญ่ก็ควรจะย้อนระลึกถึงเมื่อเวลาที่เป็นเด็ก ไม่ต้องคิดอะไรให้มาก และมีความสุขกับสิ่งง่ายๆ เหมือนที่เด็กๆ รู้สึก
การใช้ชีวิตที่เคร่งเครียด โดยมีแต่ความคิดแบบผู้ใหญ่ ลืมใช้หัวใจและความรู้สึก ทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ แทนที่จะมีความสุข แต่กลายเป็นความทุกข์ที่ไม่ได้ตั้งใจ พอคิดได้อีกทีก็อาจจะสายไปเสียแล้ว
นอกจากนั้น ผู้ใหญ่บางคนก็พยายามยัดเยียดความเป็น ผู้ใหญ่ให้กับเด็ก สังคมปัจจุบันที่เด็กๆ หลายคนต้องเคร่งเครียดจากการเรียนพิเศษ เพื่อที่จะสอบเข้าเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ดี มีอาชีพที่ดีในอนาคต ทำให้เด็กในยุคนี้บางคนไม่เคยใช้ชีวิตของการเป็นเด็กแบบที่ควรเป็น
ทั้งที่ความทรงจำดีๆ เวลาที่เป็นเด็กนั้น หลายๆ ครั้งก็เป็นเหมือนขุมพลังที่เมื่อมองย้อนกลับมา ก็ทำให้มีกำลังใจที่จะใช้ชีวิตต่อไป คงต้องมีบ้างที่ผู้ใหญ่อย่างเรา จะหยุดใช้ความคิดที่เกิดจาก การรับรู้จากประสาทสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นด้วยตา การได้ยินด้วยหู และการคิดด้วยสมอง
เปลี่ยนมาเป็นการรับรู้ความรู้สึกด้วยหัวใจ ซึ่งเป็นความต้องการจริงๆ ของเราบ้าง
คำนำ : เข็นเด็กขึ้นภูเขา
มีคำกล่าวที่ว่า "ถ้าดอกไม้ไม่บาน ต้องไปดูที่สภาพแวดล้อมดินดีหรือไม่ น้ำพอหรือเปล่า คงจะไปโทษว่าเป็นความผิดของดอกไม้เองที่ไม่บานคงจะไม่ได้"
ก็คงเหมือนกับเด็กๆ ที่หากมีปัญหาอะไรก็ตาม สาเหตุคงไม่ได้เกิดจากตัวเด็กอย่างเดียว แต่ต้องหันไปมองดูสิ่งแวดล้อมรอบข้างด้วย เพราะว่าครอบครัวและสังคมล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เด็กคนหนึ่งดีขึ้น หรือทำให้ยิ่งแย่ลงก็ได้
เป็นเวลาราว 3 ปีมาแล้วที่เพจ "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" เกิดขึ้นมาจากความคิดเล็กๆ ของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น 4 คน ที่อยากจะมีช่องทางสื่อสารเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับคนทั่วไปในเรื่องสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น เพราะเชื่อว่าการป้องกันก่อนที่ปัญหาจะเกิดย่อมง่ายกว่าการตามไปแก้ไขปัญหาในเวลาที่อาจจะสายเกินไป
เริ่มต้นที่การอบรมจิตแพทย์รุ่นเยาว์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 อาจารย์ผู้อบรมอยากให้จิตแพทย์แต่ละคนติดโครงการที่มีประโยชน์ในเชิงสุขภาพและจิตเวช "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" จึงได้เกิดขึ้นมา
มีคนถามว่า ทำไมต้องเป็น "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" ก็เพราะว่าการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ต้องใช้ความเสียสละและความพยายามอย่างมาก ก็คงคล้ายๆ สุภาษิตที่ว่า "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" จึงหมายถึง การร่วมมือกันเพื่อให้เด็กๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข สามารถพึ่งพาตัวเอง ไม่เบียดเบียนใคร และทำประโยชน์เพื่อคนรอบข้างบ้างไม่มากก็น้อย
สารบัญ : เข็นเด็กขึ้นภูเขา
- ทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง คุณค่าในความไม่สมบูรณ์แบบ
- สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา
- แม้จะแตกต่างแต่ไม่ได้อยากโดดเดี่ยว
- ไกลตาแต่ว่าใกล้ใจ
- สะพานเปลี่ยนใจคน
- อยากให้คนอื่นทำกับหนูอย่างไร หนูก็จงทำแบบนั้นกับคนอื่นด้วย
- ปลูกฝังเมตตาและแบ่งปันในใจเด็ก
- แม่สอนผมว่า มันคงมีวันที่แย่ๆ บ้างนะลูก
- โต๊ะโตะจังความจริงหนูเป็นเด็กดี
- เพียงเพื่อมีโอกาสที่จะได้เรียน
- พ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ
- เมื่อถึงวันที่ลุกต้องเสียน้ำตา
- การเลี้ยงลูกทีไม่มีอุเบกขา 3 แบบ
- เมื่อเด็กกลัวหรือวิตกกังวล
เนื้อหาปกหลัง : เข็นเด็กขึ้นภูเขา
2552-2556 จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ หัวหน้ากลุ่มงานสุขจิตวิทยาจิต และจิตเวชเด็กและวัยรุ่น
ปัจจุบัน
อาจารย์ หน่วยจิตเวชเด็ก แผนกจิตเวชศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ และตรวจนอกเวลาที่ รพ.มนารมย์ และทำเฟซบุ๊กเพจ "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" เขียนบทความประจำในนิตยสาร Mother & care
การศึกษา
2540-2546 แพทยศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล
2547 ประกาศนียบัตรอายุรศาสตร์เขตร้อนและสุขวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล
2552 วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญจิตเวชศาสตร์ สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น
รีวิวโดยผู้เขียน : เข็นเด็กขึ้นภูเขา
หมออยากจะขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน คณาจารย์ผู้อบรม โครงการจิตแพทย์รุ่นเยาว์และสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดเพจ "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" ขึ้นมา ได้แก่ อาจารย์นายแพทย์ ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ อาจารย์แพทย์หญิง พันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ อาจารย์แพทย์หญิง เบญจมาศ พฤกษ์กานนท์ และจิตแพทย์เด็กอีก 3 ท่านที่ร่วมก่อตั้งเพจ "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" ได้แก่ พญ.กอร์ปบุญ ภาวะกุล พญ.จันทร์อาภา สุขทัพภ์ พญ. แพรว ไตลังคะ และสุดท้ายที่ลืมไม่ได้คือ คนอ่านทุกๆ คนที่คอยติดตามอ่านบทความและเป็นกำลังใจที่สำคัญของหมอเสมอมา