รายละเอียด : เรื่องเล่าจากสวนขี้คร้าน 2 ปรัชญาในสวน (วิถีพึ่งตน)
ทุกวันนี้ ถึงแม้ผมจะไม่ค่อยแน่ใจว่า รอยยิ้มที่แต้มหน้าตัวเองเป็นความปิติปลื้มเปรม หรือเป็นการยิ้มเสียดเย้ยไยไพตัวเองยามยากไร้และเปลี่ยวเหงา? แต่เมื่อความลงตัวของบางปัจจัยในสวนมีมากพอที่จะปล่อยให้มันเป็นอย่างที่มันเป็น "สวนขี้คร้าน" แห่งนี้จึงกลายเป็นเหมือนแปลงทดลองให้ผมทุกฤดูกาล ที่นอกจากความสนุกสนานและผลประโยชน์ในภายหน้าแล้ว มันยังเป็นสถานที่ที่ทำให้ผมค้นพบความสุขอันยิ่งใหญ่ที่ผมไม่เคยพบขณะที่ทำงานประจำ ผมเริ่มต้นตรงนี้ ในสวน และที่นี่ก็คือที่สุด และที่สุดท้ายของชีวิต
ปลายปี 2546 ผมเริ่มต้นเรียนรู้โลกแห่งการใช้ชีวิตในวิถีเก่าที่เคยเป็นและเคยทำมาแล้วในช่วงเยาว์วัย นั่นคือ การทำน้ำตาลมะพร้าว ยังจำได้เลาๆ ถึงขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ในการที่จะให้ได้มาซึ่งน้ำตาลหวานๆ จากจั่นมะพร้าว
เอาเข้าจริงๆ เมื่อคลุกคลีกับมันอย่างจริงจัง กลับพบว่าไม่ใช่แค่น้ำหวานหรือน้ำตาลที่ได้มาในแต่ละวัน ผมได้มากกว่านั้นเช้าวันนั้นเหมือนทุกเช้าที่ผ่านมา ผมจุดไฟที่เตา ต้มน้ำเพื่อเตรียมไว้ลวกล้างกระบอกเก็บน้ำตาล จากนั้นอุ่นน้ำตาลสดที่เก็บสะสมจากเย็นวันวาน ลับมีดเตรียมกระบอกใส่น้ำตาลสด นำเศษเคี่ยม ซึ่งเป็นตัวฝาดกันบูดใส่กระบอก เตรียมมีดใส่ฝักเหน็บเอว เดินหิ้วกระบอกโต๋เต๋เข้าสวน
เช้าวันใหม่หลังฝน กลิ่นอากาศสดใหม่ หมอกบางยังเรี่ยยอดไม้เป็นละอองขาวนวล แต่เมื่อมองไกลออกไปจรดทิวเขาด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ บรรยากาศยังดูทะมึนมัว น้ำค้างพรายยอดหญ้า ยามสาวเท้าผ่าน เปียกปอน-เย็นเยียบ การตื่นแต่เช้าของชีวิตบ้านสวนนับเป็นความรื่นรมย์อย่างหนึ่งซึ่งหาเสพได้ไม่ยาก (จะยากยิ่งก็อีตอนที่ต้องแหกขี้ตาให้ตื่นแล้วสลัดผ้าหม่ แซะตัวเองออกจากที่นอนให้ได้นั่นแล) ทุกวัน มีกิจกรรมจำเป็นที่ต้องทำและลองทำหลายอย่างทั้งเพื่อการยังชีพ เพื่อความสนุก เพื่อความรู้ เพื่อปลูกภูมิดั้งเดิมที่นับวันจะถูกกัดกร่อนจนแทบไม่เหลือให้หยิบฉวยมาใช้คราวจำเป็น นอกเหนือจากวิชาชีพที่ได้จากครูพักลักจำ วิถีในวัยเยาว์ หรือได้มาโดยสายเลือดแล้ว ชาวบ้าน (นอก) เราจำเป็นต้องมีสัญชาตญาณเพราะนั่นหมายถึงถ้าถึงภาวะคับขันแล้ว เราต้องรอด เราต้องพึ่งตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่ความสามารถของเรามี
การทำน้ำตาลเป็นหนึ่งในกิจกรรมทดลองที่สามารถลดการจ่ายได้จริง และเพิ่มมวลมิตรได้จริง (ก็ต่อเมื่อเรามีน้ำตาลไปฝากเขาถึงบ้าน-ฮา) หากแต่ต้องแลกกับเวลาทั้งหมดทั้งสิ้นเกือบทั้งวันหมดไปกับงานนี้เท่านั้น คือแทบจะไม่มีเวลาไปทำกิจการงานอย่างอื่นได้อีก
น้ำตาลมะพร้าวเป็นภูมิความรู้ที่ได้มาแบบครูพักลักจำอาศัยความซุกซนในวัยเด็กเที่ยวสอบถามคนโน้นคนนี้ จากญาติข้างบ้านบ้าง ที่อื่นบ้าง ผสมปนเปกันจนสามารถหาวิธีนำเอาน้ำหวานจากจั่นมะพร้าวมาเคี่ยวทำน้ำตาลไว้ใช้ในบ้านได้ หรือเก็บไว้ทำน้ำส้มสายชูจากมะพร้าวได้อีก
สารบัญ : เรื่องเล่าจากสวนขี้คร้าน 2 ปรัชญาในสวน (วิถีพึ่งตน)
- ต่อที่งวงตาล
- หน้าฝนของเห็ด
- หัวใจระกำ
- หมากของแม่
- ผลไม้หน้าแล้ง
- คำถามในโลกใบเล็ก
- นกในสวน
- หอมดอกกาแฟ
- หนามก่อในนิ้ว
- คอลั้ง
- พลอง ศัตรูที่รัก
- ลูกโท่
- เหมร
- ลิงติง
- บุหรง ความงามที่ไม่มีวันได้บาน
- ทุเรียนบ้านปักษ์ใต้ อนาคตอันรวยริน
- เสาะไกล พบใกล้
- เพกาธันวา
- ศาสตร์สะตอ
- ผึ้งพึ่ง
- เห็ดนกยูง
- สายน้ำสีชากับใบไม้สีแดง
- ตูดหมูตูดหมา น้ำมันยาของแม่
- บุกขยุ้ม สวาดร่วง ระบม
- ด้วงงวงมะพร้าว โปรตีนริมสวน
- โมกมัน วินัยผุ ความจำกร่อน
- ลมหนาว ดอกหญ้า พะยอม
- การค้นพบเล็กๆ ในอาณาจักรแห่งตนฯ
- จุดหมายของกระรอกบินตัวน้อย
- นางอายในสายตานักล่า
- ปรอด (ใน) สวน ไม่ต้องเลี้ยงก็ได้ยินเสียงทุกวัน
- แด่แม่ แม้จะ
เนื้อหาปกหลัง : เรื่องเล่าจากสวนขี้คร้าน 2 ปรัชญาในสวน (วิถีพึ่งตน)
สายลมลอย เป็นเพื่อนที่ดิฉันให้ความนับถือในความสู้ชีวิตและความเป็นคนจริง นับเป็นลูกผู้ชายคนหนึ่งที่เริ่มลดน้อยถอยลงในโลกที่หมุนเร็วและซับซ้อนใบนี้ แม้หลายๆ คนโหยหาอดีตและความงามแห่งชีวิตท้องถิ่น ยามเมื่อถูกกระแสเมืองอันเกรี้ยวกราดโบยตี แต่เพื่อนคนนี้กล้าเดินออกจากสังคมเมืองเพื่อไป "ทดลองใช้ชีวิต" ที่บ้านเกิด ลองใช้ชีวิตเยี่ยงบรรพชน เดินตามรอยภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยเอาชีวิตตัวเองเป็นเดิมพัน ลองผิดลองถูก เพื่อเรียนรู้ชีวิต
เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้ นักข่าว นักเขียน
ผลงานเขียนเรื่อง ปรัชญาในสวน ของสายลมลอย นอกจากให้ความรู้แบบชาวสวนนักปฏิบัติจริง ยังได้ดึงฉันให้เข้าไปสู่ความงามจากสวนภายใน แล้วไหลย้อนออกมาสู่สวนภายนอกและนำกลับเข้าไปสู่จิตวิญญาณลึกๆ ว่า เราต่างแสวงหาสิ่งใดเป็นสรณะของชีวิต และหรือเราทุกคนต่างควรกลับคืนสู่สามัญ ด้วยการลงดิน คลุกดิน ขุดดิน และรดน้ำพรวนดิน เพื่อลงกล้าไม้กันอย่างน้อยคนละต้นสำหรับการเริ่มต้น
สุธาทิพย์ โมราลาย นักเขียน
รีวิวโดยผู้เขียน : เรื่องเล่าจากสวนขี้คร้าน 2 ปรัชญาในสวน (วิถีพึ่งตน)
หลังการทำงานอย่างหนักในสวนและในนาผ่านมากกว่าสิบปี ชีวิตช่วงหลังของผมออกนอกบ้านเพื่อท่อมๆ ไปหาเรื่องราวมาเล่าสู่กันน้อยลงกระทั่งหยุดนิ่งในที่สุด ด้วยว่าคนแก่ในบ้านอายุมากขึ้น จากที่เคยจูงเดินออกกำลังกายตอนเช้าๆ กระทั่งเดินไม่ได้ในที่สุด นอกเหนือจากงานฝีมือที่เกี่ยวกับการตีเหล็กหรือทำงานเครื่องหนังเล็กๆ น้อยๆ แล้วผมไม่มีอาชีพอย่างอื่นอีก ดังนั้น หน้าที่งานที่ทั้งทำเพื่อเลี้ยงชีพและหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณแล้ว เวลาอีกครึ่งหนึ่งคือการดูแลคนแก่อย่างใกล้ชิด และดีที่สุดเท่าที่ลูกผู้ชายคนหนึ่งสามารถทำได้นั่นเอง
แค่เดินออกจากชายคาบ้านไปยังโรงตีเหล็ก บางครั้งยังนับว่าไกลไปแล้ว ผมไม่ค่อยได้เขียนอะไรมาเล่าสู่กันฟังอีก นอกจากภาพประดับถ้อยคำสั้นๆ สามบรรทัดหรือมากกว่านั้นนิดหน่อยในสังคมเครือข่าย-พอให้หายคิดถึงกัน
กระนั้นก็ยังมีญาติมิตรสหายหลายคนยังติดตามและทวงถามเรื่องราวจากผมอยู่บ่อยๆ ว่าจะมีเรื่องอะไรมาเล่าสู่กันอีกจริงๆ อาจมีอยู่บ้าง แต่เหมือนจะยังบ่มไม่ได้ที่ ปรุงยังไม่ครบรสและหรือบางทีเทคนิคการเล่าเรื่องที่เคยมีอาจตกหล่นจมหายไปไหนแล้วก็ไม่รู้
เรื่องราวทั้งหมดในเล่มนี้คือการบอกเล่าเรื่องราวในสวนที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด จุดเปลี่ยนของชีวิต รวมทั้งทางไปของผมในอีกหลายปีข้างหน้า ซึ่งไม่หนีไปจากวิถีที่เป็นอยู่ในตอนนี้
หวังว่าเรื่องราวเหล่านี้คงเอื้อประโยชน์ หรือเพิ่มแรงฮึด แรงดลใจอะไรบางอย่างในการใช้ชีวิตของเพื่อนๆ ได้บ้าง อย่าให้ถึงกับดื้อรั้นจนดูเหมือนโง่งม กระทั่งเจ็บปวด บอบช้ำ หรือซึมเศร้าอย่างที่ผมเคยผ่านมา เลือกเอาแต่พองาม ชีวิตเราเลือกได้เสมอ
ถึงตอนนี้ผมก็ยังไม่ได้อยู่ในภาวะที่สะดวกสบายหรือร่ำรวยอะไร ยังทำงานหนักเหมือนเดิม ยังสนุกสนานกับการทดลองอะไรต่อมิอะไรตามสภาพวัยและร่างกายเอื้ออวยให้
คาดหวังว่าจะสามารถเขียนอะไรต่อมิอะไรมาบอกเล่าสู่กันอีกในโอกาสต่อไป
รีวิวโดยสำนักพิมพ์ : เรื่องเล่าจากสวนขี้คร้าน 2 ปรัชญาในสวน (วิถีพึ่งตน)
สวนขี้คร้าน สวนอินทรีย์ขนาด 13 ไร่ ในอำเภอสวี จังหวัดชุมพร ซึ่งอยู่ในความดูแลของอดีตมนุษย์เงินเดือนหนุ่มผู้ทิ้งชีวิตศิวิไลซ์ ในเมืองกรุงเพื่อกลับสู่ท้องทุ่งบ้านเกิด และใช้มรดกชิ้นสุดท้ายจากบรรพชนเป็นห้องทดลอง เรียนรู้จดบันทึก และถ่ายทอดแบ่งปันสู่ผู้คนบนโลกโซเชียลภายใต้ชื่อ สายลมลอย
13 ปีแห่งการเคี่ยวกรำประสบการณ์ผ่านเงื่อนไขชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แค่ใช้คำว่า "สู้-ทน" อาจจะดูง่ายไปในการรับมือ สิ่งสำคัญมากกว่านั้น นอกจาก "ภูมิรู้" ที่ต้องสืบค้นจากความทรงจำวัยเด็ก เสาะแสวงจากตัวหนังสือ การพูดคุยจากผู้คนในพื้นที่แล้ว "การยอมรับ" ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำนา-ทำสวนอีกอย่างที่ขาดไม่ได้ การยอมรับนี้เองที่นำไปสู่การค้นพบสัจจะความจริงทางธรรมชาติ ผู้คน รวมถึงตัวตน
ทั้งหมดนี้ถูกบรรจุอยู่ใน "วิถีในนา-ปรัชญาในสวน" หนังสือเกษตรชุดดูโอที่ไม่ได้นำเสนอแค่องค์ความรู้เกษตรอินทรีย์ หากแต่สอดแทรกวิถีที่คนทำนา-ทำสวนต้องพบและผ่านไปให้ได้ เพื่อจะรู้จักความพอเพียงแท้-แท้ ที่ไม่ใช่แค่การกระเสือกกระสนกอบโกย-แย่งชิงจากธรรมชาติ
เพื่อให้ตัวเอง "มี" อย่างเพียงพอ