รายละเอียด : สะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว (ปกใหม่)
เรื่องราวบางอย่างดูเหมือนจะฝังตัวอยู่ในความทรงจำของเราอย่างดื้อรั้น มันหวนกลับมาหลอกหลอนในค่ำคืนที่เราเหงา ในห้วงขณะที่เราปล่อยใจให้ล่องลอยไปตามเสียงคลื่น หรือสายลมหวิว กลับมาครั้งแล้วครั้งเล่าเหมือนกระแสน้ำพัดวน กลายเป็นเพลงเศร้าประจำชีวิตซึ่งแผ่วผิวอย่างไม่เลือกที่ทุกครั้งที่เราสะดุดกับปัจจุบัน
วันนั้นเป็นวันสุดท้ายของเดือนกันยายน 2523 ผมและเพื่อนๆ อีกแปดคนเดินลงจากสันเขาสูงมาถึงริมห้วยขาแข้ง ตอนบนในเวลาใกล้เที่ยง ฝนมรสุมตกต่อเนื่องกันมาหลายวัน บางทีก็สาดกระหน่ำเหมือนจะละลายภูเขาทั้งเทือกให้พังครืนลงมา บางช่วงก็โปรยเป็นละอองนุ่มตั้งแต่เช้าจรดเย็น แม้ในยามที่ฝนขาดเม็ด ป่าทั้งป่าก็ยังคึ้มชื้นราวกับโรงละครที่ถูกทิ้งร้าง กลิ่นใบไม้เก่าและขอนผุอุ้มน้ำอบร่ำจมูกพวกเรามาตลอดทาง
หากถือเอาหุบเขาแถวต้นน้ำแควใหญ่เป็นจุดเริ่มต้น ก็นับได้ว่าเราเดินกันมาห้าวันเต็มๆ ท่ามกลางสายฝนและบนความลาดชันของขุนเขาทั้งขาขึ้นขาลง เรามาจากทิศตะวันตก ตัดผ่านรอยต่อของอุทัยธานี ตาก และกาญจนบุรี เพื่อมุ่งสู่บริเวณชายป่าแห่งหนึ่งซึ่งเรียกว่า "ซับฟ้าผ่า" อีกวันเดียวก็จะถึงจุดหมายแล้ว ถ้าหากเราสามารถฝ่าข้ามห้วยขาแข้งไปได้โดยสวัสดิภาพ
น้ำในลำห้วยกำลังอยู่ในระดับสูงสุดช่วงปลายฤดูฝน กระแสน้ำขุ่นข้นราวทะเลโคลนเดือนพล่าน และท่วมท้นล้นหลากออกมาไกลทั้งสองฟากฝั่ง ตลอดแนวลำห้วยมีพุ่มไม้ ที่จมปริ่มปรากฏให้เห็นอยู่กระจัดกระจาย มันโยกสะท้านไปมาเหมือนผู้คนที่กำลังตะเกียกตะกายขอความช่วยเหลือ ไม้บางต้นลอยมาจากเหนือน้ำทั้งรากทั้งโคน บ้างก็งัดอยู่กับพุ่มที่ยังไม่ถูกถอน
ที่ฝั่งตรงข้าม เยื้องไปจากเส้นทางของเราเล็กน้อย เหี้ยขนาดใหญ่มากตัวหนึ่งถูกพัดพามางัดติดอยู่กับกิ่งไม้ ผลุบๆโผล่ๆ อยู่ตามแรงกระชากของสายน้ำ จะปีนขึ้นฝั่งก็ไม่ไหว จะปลดตัวให้ลอยไปตามสายน้ำเชี่ยวก็ทำไม่ได้ ดูเป็นภาพน่าเวทนาไม่น้อย
สารบัญ : สะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว (ปกใหม่)
- สะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว
- มาจากป่าชายเลน
- คำขอของหลวงตา
- อิฐก้อนนั้นมอบให้ความหวังดี
- แลไปข้างหน้า สำเนาชีวิตจากช่วงแสวงหา
- มหาวิทยาลัยชีวิต
- ธรรมศาสตร์กับ 14 ตุลาคม ความทรงจำของผู้รู้เห็น
- คืนแห่งชะตากรรม ความทรงจำเกี่ยวกับการต่อสู้เดือนตุลาคม
- สงครามและความรัก
- หญิงสาวกับลูกนกขุนทอง
- เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง ความทรงจำอันขาดวิ่นของนักเดินทางผู้ว้าเหว่
- ลุงไฟ นักรบผู้เลือนหายไป
- หยาดน้ำตาบนแผ่นแก้มของกาลเวลา
- ความรักและความเถื่อน
- ตุลาคมรำลึก
- ปลาใหญ่สายเบ็ดเล็ก
- เสียงกระซิบจากอันดามัน
- ชีวิตโดยบังเอิญ
- เด็กหนุ่มกับชายชรา
- ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้
- เพื่อน
- บาดแผลตะวันออก
เนื้อหาปกหลัง : สะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว (ปกใหม่)
"งานเขียนชุดสะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว ถูกเขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระในระยะประมาณ 20 ปี หลังจากผู้เขียนออกจากป่า หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งคือเป็นงานเขียนจากช่วงที่เสกสรรค์อยู่ในวัยหนุ่มมาจนถึงวัยกลางคน ดูผิวเผินแล้วงานชุดนี้อาจจะคล้ายบันทึกความทรงจำธรรมดาเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผู้เขียนได้ประสบพบมา แต่สำหรับผู้อ่านที่สัมผัสไวและมองโลกได้ลึกพอ ก็จะรู้ว่าสิ่งที่เสกสรรค์เขียนถึงมากที่สุดไม่ใช่เหตุการณ์ภายนอก หากเป็นทั้ง "สนามรบ" ที่ยังคงตกค้างอยู่ข้างใน และเป็นความพยายามที่จะแกะรอยการก่อรูปของ "ตัวเอง"
"วรรณกรรมของนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล มีคุณค่าด้านสร้าง สำนึกทางประวัติศาสตร์ ฉายภาพสังคม นำเสนอปรัชญาอันลุ่มลึก ในการพัฒนาชีวิตและจิตวิญญาณ ประณีตงดงามทางวรรณศิลป์ และเป็นแบบอย่างการประพันธ์แก่นักเขียนรุ่นหลัง"
จากคำประกาศเกียรติคุณศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
รีวิวโดยสำนักพิมพ์ : สะพานไผ่เหนือสายน้ำเชี่ยว (ปกใหม่)
งานเขียนของเสกสรรค์ ประเสริฐกุลที่รวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้เป็นงานเก่าที่เคยถูกตีพิมพ์มาแล้วทั้งสิ้น แต่นับเป็นครั้งแรกที่ข้อเขียนเหล่านี้มารวมอยู่ในเล่มเดียวกัน
ชื่อของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นที่รู้จักกันดีในประเทศไทย ทั้งในฐานะนักเขียนและในฐานะอื่นๆ งานเขียนของเขาโดดเด่นตรงที่มีลีลาการใช้ภาษาอันงดงามและมีสไตล์เฉพาะตัวในการนำเสนอ อีกทั้งมีแง่คิดและเนื้อหามาจากประสบการณ์ตรงในชีวิตจริง ถ้าไม่นับงานวิชาการและบทความหนังสือพิมพ์ที่วิจารณ์ความเป็นไปในบ้านเมืองแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่างานเขียนส่วนใหญ่ของเสกสรรค์แยกไม่ออกจากประวัติความเป็นมาของเขา
สำนักพิมพ์ประพันธ์สาสน์
ตุลาคม 2553