รายละเอียด : นักอยากเขียน (ศุ บุญเลี้ยง)
ในวัยเยาว์ มีนิตยสารสองเล่มที่ข้าพเจ้าสนใจมากๆ คือนิตยสารมวย และนิตยสารแปลก นิตยสารมวยนั้นเป็นนิตยสารที่ทำให้ข้าพเจ้า อยากเป็นนักมวย ส่วนนิตยสารแปลก ทำให้ข้าพเจ้าอยากได้เงินจากการเขียน
ข้าพเจ้าเคยเขียนเรื่องที่คิดว่า แปลก ส่งไปนิตยสารแปลก อาจถือเป็นงานเขียนชิ้นแรกในชีวิตก็ว่าได้ คอลัมน์นั้นเปิดให้ผู้อ่านเขียนเล่าประสบการณ์ แปลกๆ ที่พานพบ ข้าพเจ้าเขียนเรื่อง "ยายขี้หมา" เพราะอยากเล่าและอยากได้เงิน ก็เลยเอาเรื่องที่เขาเล่าต่อๆ กันมาว่า ยายขี้หมาตายแล้วฟื้น เขียนส่งไปแล้วคอยเปิดหาอยู่เสมอสี่ฉบับไม่พบ คาดว่าไม่ได้ลง มานึกอีกทีก็ดีแล้วที่ไมได้ตีพิมพ์ ไม่งั้นข้าพเจ้าอาจเข้าใจผิดคิดว่า การเขียนหนังสือนั้นง่ายดาย นั่งเทียนเขียนเอาก็ได้เงินใช้
นิตยสารที่ทำให้ข้าพเจ้ามีไฟ แม้จะเป็นนิตยสารที่ได้อ่านไม่กี่เล่มก็เลิกรา แต่ยังยืนยงอยู่ในใจ คือนิตยสารวัยรุ่นชื่อ หนุก ต่อมาขยับสับเปลี่ยนเป็น กนก และสันนิษฐานว่า เจ็ง เลิกรา และเปลี่ยนไปเป็นชื่ออื่น แนวอื่น คนอื่นทำ และให้คนอื่นอ่าน
กนก เป็นนิตยสารสำหรับวัยรุ่น ที่ไม่ได้ขายความหลงใหล แต่มีเรื่องราวของการเล่นดนตรี การเป็นดีเจ การไปศึกษาต่อต่างประเทศ การถ่ายรูป และมีอะไรมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ข้าพเจ้ารู้จักคำว่า "นิเทศศาสตร์" ซึงยุคสมัยนั้นไม่ค่อยมีใครสนใจ
ขณะเขียน ย้อนรำลึกความหลัง ข้าพเจ้าคิดถึงชื่อ วาณิช จรุงกิจอนันต์ และ มนันยา นักเขียนอารมณ์ดีสองท่าน ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าอยากเป็นนักอยากเขียนขึ้นมาบ้าง จดหมายถึงเพื่อน และเรื่องราวของ ชาวเขื่อน นับเป็นหนังสือที่โน้มน้ำ ขำก๊าก มันทำให้รู้จักรสชาติความสนุกจาการอ่าน และคันไม้คันมืออยากเขียนให้ได้บ้างแม้เพียงสักน้อยก็ยังดี
อีกสองนักเขียนค่อนข้างสนิท มีงานหนังสือ ไม่มากนัก แต่ส่งแรงมหาศาลต่อชีวิตและงานเขียนของข้าพเจ้า คือ ประภาส ชลศรานนท์ และ ปินดา โพสยะ ผู้เป็นทั้งพี่และครูนอกตำราของข้าพเจ้าผู้เปลี่ยนแปลงองศาความคิดให้ลึกซึ้งเกินกว่าจะอรรถาธิบายได้หมด ให้โอกาส ชี้แนะทั้งสั่งสอนและส่งเสริม
สารบัญ : นักอยากเขียน (ศุ บุญเลี้ยง)
- บูชาครู
- บันทึกประจำวัน
- บันทึกประจำตัว
- นักการพนันผู้หันเห
- บทเรียนนอกตำรา
- จดหมายและไปรษณียบัตร
- คนเขียนเพลงนักเลงสนุ้ก
- เขียนแบบก่อสร้างบ้านฉันใด
- การเดินทางของดอยคำ
- ขอบคุณความรำคาญ
- ความรักสร้างนักเขียน
- นักอ่านโลก
- รวมทัศนะ คิด-เขียน-อ่าน
เนื้อหาปกหลัง : นักอยากเขียน (ศุ บุญเลี้ยง)
บางช่วงบางตอนในหนังสือเล่มนี้ ทำให้ได้ย้อนคิดถึงเรื่องราวการเรียนรู้
ในวัยเยาว์ที่เคยมีประสบการณ์ร่วมกัน ในค่ายนิเทศ จุฬาฯ
เห็นชัดว่าคนเราจะเติบโตทางความคิดได้ จากประสบการณ์ทุกวันทุกวัย
ซึ่งเป็นต้นทุนการดำเนินชีวิตชั้นดีและเป็นต้นทุนสำคัญของการเป็นนักเขียน
รีวิวโดยสำนักพิมพ์ : นักอยากเขียน (ศุ บุญเลี้ยง)
เกิดบนเกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี เริ่มหัดเขียนอ่านที่ใต้ถุนบ้านครูป้ามุ้น ข้ามเกาะเข้าเมืองมาเรียนที่โรงเรียน ภปร. ราชวิทยาบลัย จนจบชั้น มศ.3 เรียนต่อมัธยมปลายในโรงเรียนวันนวนนรดิศ สอบเข้ารั้วจามจุรี เป็นนิสิตคณะนิเทศศาสตร์
ต่อมาพบว่า เส้นทางความฝันของเขาไม่น่าจะได้มาด้วยการเรียนในระบบการศึกษา จึงหันหลังให้กับการเป็นนิสิต และลงมือสร้างความฝันของเขาอย่างจริงจัง นั่นคือการเป็นนักเขียน ในผลงานเขียนกว่า 20 เล่ม บางคร้งใช้นามปากกาว่า สมจุ้ย เจตนาน่าสนุก หรือ ศุราณี
รางวัลที่ได้รับ คือ ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จากกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปี 2554 และรางวัลนักนิเทศศาสตร์ดีเด่น คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี 2559
ด้วยความเชื่อว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี งานเขียนของศุ บุญเลี้ยง ได้ทิ้งร่องรอยความคิดไว้ให้ผู้อ่านหลายต่อหลายรุ่น ผู้คนเหล่านั้นที่ได้ทำความรู้จักตัวหนังสือของเขา
ถูกชี้ชวนให้เห็นมุมมองน่ารัก น่าสนใจของโลกใบนี้ ด้วยสายตาของคนมีหัวสร้างสรรค์ ถูกกระตุกเตือนแทบหงายหลัง ด้วยความปากจัดของนักติอารมณ์ดีแต่ขี้รำคาญ ถูกใช้เป็นแรงบันดาลใจ ให้เริ่มต้นสิ่งใหม่ด้วยต้นแบบของนักคิดจอมขบถ
และถูกพาใจให้หวามไหว ไปกับวิญญาณกวีโรแมนติกด แม้โลกจะเคลื่อนผ่านไปไม่มีวันหยุดพักร้อน แต่หลายสิ่งที่ศุ บุญเลี้ยงขีดเขียนเอาไว้ ยังคงจริงแท้ในวันนี้ บางความคิดยังเป็นเสมือนคู่มือให้คนหนุ่มสาว บางมุมมองยังเป็นเสมือนกัลยามิตรของคนท้อ บางวีรกรรมยังเป็นต้นแบบให้กล้าก้าวตามต่อ
จึงเป็นความตั้งใจของสำนักพิมพ์ กะทิ กะลา ที่จะรวบรวมงานเขียนของศุ บุญเลี้ยง มาจัดพิมพ์ใหม่อีกครั้ง เพื่อหวังให้ร่องรอยความคิดเหล่านั้นยังมีโอกาสได้เดินทางไปทำความรู้จัก และทำหน้าที่อันเป็นความหมายดีงามให้คนรุ่นต่อๆ ไป