รายละเอียด : เกษตรหลังเกษียณ
เกษตรหลังเกษียณ
ในยุคก่อน บรรพบุรุษของไทยส่วนใหญ่ยึดงาน "เกษตร" เป็นอาชีพหลักต่อมาระยะหลังๆ ได้มีการแบ่งงานเฉพาะด้านมากขึ้น ผู้คนจึงห่างจากภาคเกษตรไปไม่น้อยโดยเฉพาะคนในเมืองใหญ่ แต่เพราะนิสัยชอบปลูกต้นไม้ เมื่อมีพื้นที่ว่างครอบครัวคนไทยจึงมักปลูกขิง ข่า ตะไคร้ รวมทั้งไม้ผลไม้ยืนต้นเพื่อผลิตผลมาบริโภคในชีวิตประจำวัน ผู้ทำงานเกษตรโดยตรงได้ชื่อว่าเป็น "เกษตรกร" ซึ่งทำงานเกษตรตั้งแต่มีกำลังแรงทำงานได้ บางคนไม่ทราบว่าตนเองจะเกษียณจากงานเมื่อใด สำหรับผู้ทำงานนอกภาคเกษตร ส่วนใหญ่จะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี คนเหล่านี้มีอยู่เป็นจำนวนมากที่อยากจะทำงานเกษตรหลังเกษียณ อาจเพราะพื้นฐานเคยสังกัดครอบครัวเกษตรกรมาก่อน หรือไม่ก็เห็นตัวอย่างความสุขสงบของคนที่อยู่ในท้องไร่ท้องนา ดังนั้น จึงมีผู้ทำงานประจำเตรียมตัวซื้อที่ดินสำหรับทำการเกษตร ส่วนผู้ที่เกษียณแล้วก็หาที่ทางปลูกต้นไม้ พบเห็นความสำเร็จมากมาย
สารบัญ : เกษตรหลังเกษียณ
เกษตรหลังเกษียณ
- งานเกษตาหลังเกษียณให้อะไร
- สานฝัน งานเกษตร เมื่อเกษียณ
- อดีตครูที่ตำบลหมื่นไวย โคราช ทำสวน ปลูกพืชผักสมุนไพร แก้เหงาหลังเกษียณ
- ปลูกผักอินทรีย์ข้างบ้าน
- ปลูกผักสลัดต้องใส่ใจ
- "มานิจ สุขีวงศ์" พึงพอใจงานเกษตร หลังงานราชการ
เนื้อหาปกหลัง : เกษตรหลังเกษียณ
เกษตรหลังเกษียณ
ทุกประเด็นของหนังสือ "เกษตรหลังเกษียณ" เล่มนี้บรรจุเนื้อหาด้านการเกษตรทั้งก่อนและหลังวัยเกษียณ ตั้งแต่เทคนิคการปลูกไม้ผล ให้มีรสหวาน กรอบ อร่อย และเป็นที่ต้องการ
ไม่เพียงเท่านั้น ยังครอบคลุมถึงการทำฟาร์มปศุสัตว์ชนิดต่างๆ การรักษาไม้เศรษฐกิจอย่างต้นปาล์มาให้ยั่งยืน จนถึงการเพาะ-ผสมแมวสายพันธุ์ไทยโบราณสำหรับประกวดเพื่อให้ผู้สนใจทราบว่า เพียงแค่รู้เทคนิคจากผู้มีประสบการณ์ก็สามารถทำการเกษตรอย่างเชี่ยวชาญและยั่งยืนได้
รีวิวโดยผู้เขียน : เกษตรหลังเกษียณ
เกษตรหลังเกษียณ
นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ก่อตั้งมาแล้วกว่า 28 ปี เรื่องราวที่เคยนำเสนอนั้นมีมากกว่า 3 หมื่นเรื่อง ตั้งแต่ผู้ประสบความสำเร็จด้านอาชีพเกษตรซึ่งมีความรู้เพียงชั้น ป.2 ไปจึงถึงระดับปริญญาเอก โดยอาชีพเดิมของพวกเขาเหล่านั้นมีอยู่ไม่น้อยที่ดำรงอยู่ด้วยการเป็นเกษตรกรมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย แต่ก็มีอยู่มากที่เปลี่ยนจากอาชีพอื่นแล้วหันมาหลงใหลอาชีพเกษตรกรรม ผู้ประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งทำงานประจำอยู่ก่อนแล้ว มองเห็นลู่ทางว่างานเกษตรเป็นทางออกที่ดี สามารถทำเป็นกิจการของตัวเองได้ จึงเตรียมพื้นที่สำหรับเพาะปลูก เมื่อถึงเวลาอันสมควรจึงลาออกมาทำเต็มตัว บางคนรอจนถึงวัยเกษียณก่อนจะได้เงินก้อนใหญ่มาบริหารจัดการ
แต่สำหรับผู้ที่เกษียณอายุแล้ว อาจถูกมองว่าเป็นผู้สูงวัย หมดไฟในการทำงาน อย่างดีก็เพียงเลี้ยงหลายอยู่บ้าน เรื่องทำนองนี้หากมองย้อนไปสัก 20 ปีที่ผ่านมาอาจดูใกล้เคียง แต่ในยุคนี้สังคมได้มีการดูแลเรื่องสุขอนามัย ผู้คนจึงแข็งแรงมีสุขภาพดี ยามเกษียณจึงสามารถทำอะไรได้หลายอย่างโดยเฉพาะงานเกษตร งานเกษตรทุกวันนี้จึงแตกต่างจากสมัยก่อน ยกตัวอย่าง การทำนาทุกวันนี้หลายคนทำนาด้วยโทรศัพท์มือถือกันแล้ว อธิบายก็คือโทรศัพท์ไปบอกให้รถมาเตรียมดิน โทรศัพท์ไปสั่งต้นกล้ากับรถดำนา เมื่อถึงคราวต้องใส่ปุ๋ยก็จะบอกได้ว่าใช้สูตรไหน ครั้นข้าวสุกแก่ก็โทรศัพท์ให้รถมาเกี่ยวข้าวแล้วซื้อขายกันทันที งานเกษตรถึงจะซับซ้อน แต่ก็ไม่ยุ่งยากเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
รีวิวโดยสำนักพิมพ์ : เกษตรหลังเกษียณ
เกษตรหลังเกษียณ
เป็นอันยอมรับและเข้าใจตรงกันก็คือ สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติคาดคำนวณว่าผู้สูงอายุของไทยจะมีจำนวนกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด หากใช้มุมมองที่ล้าหลัง อาจมองว่า ผู้สูงอายุ คือบุคคลที่เป็นภาระแก่สังคม ทั้งที่ในความเป็นจริงยังมีผู้สูงอายุอีกไม่น้อยเลือกที่จะทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในวัยเกษียณ เพื่อผ่อนคลายตัวเองและหารายได้ในคราวเดียวกัน และทางเลือกของผู้คนใน สังคมเกษตรกรรม ดังเช่นเมืองไทยนั้น ย่อมมีผู้คนสนใจทำการเกษตรหลังจากเข้าสู่วัยเกษียณเป็นจำนวนมาก ทว่าน้อยนักที่จะมีหนังสือรวบรวมประสบการณ์การทำงานเกษตรโดยเน้นไปที่ผู้สูงวัยอย่างจริงจัง
หนังสือ เกษตรหลังเกษียณ โอกาสเพิ่มรายได้และสร้างกำไรชีวิต ผลิตผลจากกองบรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน จึงเป็นหนังสือที่ตอกย้ำให้เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าว ผ่านเรื่องเล่า ประสบการณ์ เทคนิคและวิธีการของผู้ทำงานเกษตรในวัยสูงอายุได้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการทั้งก่อนหรือหลังวัยเกษียณ แม่แต่พนักงานบริษัทที่แสวงหาความสงบสุขของชีวิตในบั้นปลายก็เช่นกัน