รายละเอียด : วันละ 3 นาทีเปลี่ยนคนไม่เอาถ่านให้ทำงานฯ
วันละ 3 นาที เปลี่ยนคนไม่เอาถ่านให้ทำงานเก่ง
ผู้จัดการที่เป็นโค้ชและการหาเวลาสองแบบ ทุกวันนี้ผู้จัดการของบริษัทต่างๆ ต้องรับบทบาททั้งผู้จัดการทีมและผู้เล่น นอกจากจะต้องบริหารคนและโครงการต่างๆ แล้ว พวกเขายังมีงานของตัวเองที่ต้องทำให้เสร็จและมีเป้าหมายที่ต้องทำให้ถึงด้วย
ด้วยเหตุนี้ ผู้จัดการจึงมักให้ความสำคัญกับงานและเป้าของตัวเองมากกว่าการพัฒนาลูกน้อง ซึ่งเป็นงานที่ประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้ยาก และด้วยความที่เป็นงานที่ได้ยากนี่เองมันจึงไม่ค่อยถูกนำไปเป็นกณฑ์ในการประเมินผลงานของผู้จัดการ การฝึกลูกน้องให้เก่งขึ้นจึงกลายเป็นงานรองที่ไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากไม่มีการพัฒนาบุคลากร ต่อให้ตัวเลขยอดขายตอนนี้จะเพิ่มขึ้น สุดท้ายผลกำไรของบริษัทก็จะต้องตกต่ำลงอยู่ดี เมื่อปัญหาต่างๆ โผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ ทั้งอัตราการลาออกพุ่งสูง คุณภาพของสินค้าตกต่ำ การส่งสินค้าไม่ตรงตามกำหนด งานไม่คืบหน้าความร่วมมือร่วมใจในทีมลดลง และการยึดผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลักโดยไม่คำนึงถึงบริษัท เราก็จะเริ่มเห็นชัดว่าบริษัทไม่มี "การจัดการ" อะไรเลย
หลายบริษัทมี "ผู้จัดการ" แต่กลับไม่มี "การจัดการ" มิหนำซ้ำ ลูกน้องไม่ยอมรับผู้จัดการเหล่านั้นในฐานะ "ผู้จัดการ" ด้วย พูดง่ายๆ ว่าผู้จัดการในบริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองจนดูราวกับว่าไม่มีตัวตนอยู่จริง การฝึกฝนลูกน้อง การบริหารงาน และการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในทีมนั้นต้องอาศัยความสามารถของผู้จัดการเป็นอย่างมาก แต่อุปสรรคที่ผู้จัดการจำนวนไม่น้อยต้องพบเจอก็คือไม่รู้จะสื่อสารกับลูกน้องอย่างไร สุดท้ายจึงต้องหยุดอยู่ตั้งแต่การสื่อสารเพราะไปต่อไม่ได้
มีเพียงไม่กี่บริษัทที่ให้ความสำคัญกับการฝึกฝนผู้จัดการให้สามารถสื่อสารกับลูกน้องได้อย่างมีประสิทธิภาพบริษัทส่วนใหญ่มองว่าการสื่อสารไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นต้องมาฝึกฝนกันอย่างจริงจังเพราะผู้จัดการทุกคนน่าจะทำกันได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ ที่ผ่านมาผู้จัดการคือคนที่มี "อำนาจ" และสามารถออกคำสั่งได้ คนส่วนใหญ่จึงมองข้ามความจำเป็นของการสื่อสารภายในองค์การมาโดยตลอด
แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้วครับ การใช้ "อำนาจ" จะทำให้ลูกน้องหมดแรงจูงใจ ทำผลงานได้ย่ำแย่ หรืออาจถึงขั้นลาออกเลยก็ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือสัดส่วนของพนักงานใหม่ที่ลาออกภายในสามปีนั้นสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ทั้งที่อยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำและหางานใหม่ได้ยาก ดังนั้นเราจึงต้องรู้จักสื่อสารกับลูกน้องและบ่มเพาะความสามารถของพวกเขาเพื่อให้รับมือกับความท้าทายในอนาคต ความอยู่รอดของบริษัทต้องพึ่งพาสิ่งเหล่านี้ครับ
"การโค้ชในสามนาที" เป็นเทคนิคที่ผ่านการออกแบบและทดสอบแล้วว่าสามารถช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับทั้งหัวหน้าและลูกน้อง อีกทั้งยังเป็นเทคนิคที่สามารถนำไปใช้ได้ทันทีและแทบไม่สร้างภาระให้กับทั้งสองฝ่ายเลย เพราะสิ่งที่ต้องทำก็มีแค่พูดคุยกันวันละราวสามนาทีเท่านั้น ทุกวันนี้เทคนิคการบริหารจำนวนมากที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าควรนำเทคนิคเหล่านั้นไปใช่อย่างไร ใช้ที่ไหน และใช้เมื่อไหร่ดี ซึ่งหากเทียบกันแล้ว "การโค้ชในสามนาที" เป็นเทคนิคที่เรียบง่ายกว่ามาก เพราะหลักการสำคัญของเทคนิคนี้มีเพียงการหา "เวลาสองแบบ" เท่านั้น
แบบแรกคือการหาเวลาสำหรับคิดเรื่องของลูกน้องและแบบที่สองคือการหาเวลาพูดคุยสั้นๆ อย่างตรงประเด็นกับลูกน้อง กุญแจสำคัญของเทคนิคนี้อยู่ที่การหาเวลาพูดคุยกับลูกน้อง ดังนั้น ถ้าคิดว่าสามนาทีนั้นยากเกินไป คุณจะใช้เวลาคุยกับลูกน้องแค่หนึ่งนาทีก็ได้ และไม่ต้องกังวลเลยว่าจะหาโอกาสคุยที่ไหนหรือเมื่อไหร่ดี เพราะในการทำงานแต่ละวันจะมีสถานการณ์ที่ทำให้ลูกน้องอยากเข้ามาพูดคุยกับหัวหน้าอยู่แล้ว คุณแค่มองหาสถานการณ์เหล่านั้นให้เจอแล้วตรงเข้าไปคุยกับลูกน้องได้เลยครับ
สถานการณ์เหล่านั้นเป็นแบบไหน แล้วเราจะต้องทำอะไรบ้าง หนังสือเล่มนี้จะตอบคำถามเหล่านั้นทั้งหมดครับ หลังอ่านจบคุณจะเริ่มมองเห็นสถานการณ์ที่เหมาะจะเข้าไปพูดคุย และเมื่อมองเห็นแล้ว คุณก็จะพบว่าการฝึกลูกน้องให้เก่งขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายๆ และมีประสิทธิภาพอย่างน่าประหลาดใจ แถมยังแทบไม่สร้างภาระใดๆ ให้คุณกับลูกน้องเลย
แน่นอนว่าหากอยากได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในเวลาแค่สามนาที คุณก็จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะการโค้ชเอาไว้บ้าง แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องหาทางมีปฏิสัมพันธ์และสื่อสารกับลูกน้องให้ได้เสียก่อน อีกไม่นาน "การโค้ชในสามนาที" จะถูกหยิบขึ้นมาใช้ทุกครั้งที่มีโอกาส และ "ผู้จัดการที่เป็นโค้ช" คงจะเข้ามามีบทบาททั้งในบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติทุกแห่ง เมื่อถึงตอนนั้นผมเชื่อว่า ผลประกอบการของบริษัทจะพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าประหลาดใจเลยล่ะครับ
สารบัญ : วันละ 3 นาทีเปลี่ยนคนไม่เอาถ่านให้ทำงานฯ
เนื้อหาปกหลัง : วันละ 3 นาทีเปลี่ยนคนไม่เอาถ่านให้ทำงานฯ
วันละ 3 นาที เปลี่ยนคนไม่เอาถ่านให้ทำงานเก่ง
สำหรับคนเป็นหัวหน้า เรื่องที่น่าปวดหัวที่สุดคือการพัฒนาคน เพราะลำพังแค่งานตัวเองก็ยุ่งอยู่แล้ว นี่ยังต้องมาเสียเวลามากมายกับลูกน้อง ซึ่งกว่าจะพัฒนาขึ้นมาให้เก่งได้สักคนก็ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ แต่นั่นเป็นความเข้าในที่ผิด เพราะแค่ใช้เวลาวันละ 3 นาที คุณก็สามารถเปลี่ยนคนทำงานแย่ให้เก่งขึ้นได้แล้ว
อิโต มะโมะรุ ผู้เชี่ยวชาญด้านการโค้ชมือหนึ่งของญี่ปุ่น ได้ร่วมงานกับผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมาก และได้ค้นพบเทคนิคการพัฒนาคนที่ทั้งง่ายและได้ผลจริงอย่างไม่น่าเชื่อ แถมยังไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าการพูดคุยกันในเวลาสั้นๆ เท่านั้น แม้แต่คนที่ยุ่งจนถึงขั้นไม่มีเวลาชงกาแฟก็สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างง่ายดาย แค่นำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้วันละไม่ถึง 3 นาที แม้แต่คนไม่เอาถ่านที่สุดก็ทำงานเก่งขึ้นได้แบบหน้ามือเป็นหลังมือ