รายละเอียด : โยดายาบอย
โยดายาบอย
น้องครับ หยุดร้องไห้เถอะครับ จบ ม.6 ครับไม่ได้ไปตายห่านที่ไหนครับ ผม นายวิชัย มาตกุล นักเรียนชายชั้นมัธยมศึกษาปีที่หกยืนอยู่กลางสนามบอลกำลังมองไอ้เต้และไอ้ต้า พี่น้องสุดเท่ประจำโรงเรียนที่มีสาวรุ่นน้องประมาณหนึ่งกองพันที่ร่องห่มร้องไห้พอๆ กับชาวเกาหลีเหนือที่เพิ่งสูญเสียท่านผู้นำ ทยอยเอาดอกกุหลาบมาให้ ดอกกุหลาบครึ่งดอยคงอยู่ในมือพี่น้องคู่นี้แล้ว และอีกประมาณครึ่งดอยคงจะกำลังทยอยตามมาเร็วๆ นี้ ย้อนมามองดอกกุหลาบในมือตอนนี้ น่าจะพอๆ กับความหดหู่ในใจผม ก็รู้อยู่ว่าคิดไปก็ไม่ช่วยให้อะไรมันดีขึ้นได้ แต่ตอนนั้นมันดันรู้สึกไปแล้วว่าจำนวนดอกกุหลาบเป็นดัชนีวัดความสำคัญในการมีอยู่ของใครสักคนได้จริงๆ
แต่ก็เอาเถอะ ผมก็มีดอกกุหลาบกับเค้าเหมือนกัน ถึงจะได้มาจากตัวผมเอง ไอ้บรม ไอ้โบ และเพื่อนกลุ่มเดียวกันก็เถอะ และถ้าพิจารณาจากายภาพภายนอกของหน้งหน้า และการตั้งคำถามว่า "ทำไมกูได้ดอกกุหลาบน้อยกว่าพี่น้องสุดเท่ประจำโรงเรียน" คงเป็นเรื่องงี่เง่าพอๆ กับการใช้ติ่งเสมอตั้งคำถามว่าทำไมนกถึงดำน้ำไม่เก่งเท่าปลา และนั่นคงเป็นการใช้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองอย่างเปล่าประโยชน์ เพราะคำถามที่สมองผมควรจะไตร่ตรองจริงๆ คือ"จากนี้ต่อไปกูจะเอายังไงกับชีวิตดี"
สารบัญ : โยดายาบอย
- จบ
- จบ
- วันที่ 13 กันยายน 1997
- เวลา 21 นาฬิกา
- ฮาวดูยูดู
- Hi Class
- Hi Five
- แรงดึงดูด
- แรงดึงดูดของไอ้จิ๊ด
- กะลาตาน
- รอ
เนื้อหาปกหลัง : โยดายาบอย
วิชัย มาตกุล เพิ่งจบ ม.6 ไม่ได้เข้ามหา'ลัย โดนพ่อส่งไปอยู่พม่า โยดายาบอย คือบันทึกของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่ต้องประคับประคองร่างกายและจิตใจ ให้ผ่านชีวิตช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ในประเทศแปลกหน้า
รีวิวโดยผู้เขียน : โยดายาบอย
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ผมใช้เวลาเขียนนานที่สุดในชีวิต มันเริ่มมาจากตอนที่เขียน สิ่งมีชีวิตในโรงแรม จบ โปรเจกต์ ต่อไปที่ผมอยากทำคือ "หนังสือพม่า" แต่ตอนแรกเริ่มนั้น อย่าว่าแต่ลงมือเขียนเลย แค่จับต้นชนปลายให้เป็นเรื่องก่อนยังทำไม่ได้ จากนั้นผมก็ออก ตะคริว ณ นิ่วใจ พอจบโปรเจกต์ผมก็กลับมาเขียน "หนังสือพม่า" อีก แต่ด้วยเหตุผลบางอย่าง ผมเอามันไม่รอดอีกครั้ง ต่อจากนั้น ทุกครั้งที่เขียนหนังสือจบหนึ่งเล่ม ผมจะพยายามเขียน "หนังสือพม่า" มาตลอด และก็เขียนไม่เคยรอดสักครั้ง จนวันนึงผมกลับไปเปิดไดอารีที่เคยเขียนไว้ตอนที่อยู่พม่าย้อมหลังกลับไปปี 1999 พบว่าในลายมือยึงยือไม่เป็นระเบียบเหล่านั้น มันมีความเป็นวิชัยในวัยเพิ่งจบ ม.6 ที่เขียนบ่นก่นด่า หาเหตุผลให้ชีวิตที่ดูเหมือนไม่มีความยุติธรรมของตัวเขาเอง
ภาพความทรงจำบางเรื่องที่ตกหล่นไประหว่างทางตามความเร็วของอายุที่เพิ่มขึ้น ถูกเก็บไว้อย่างดีในระหว่างบรรทัดเหล่านั้น ตลกดีที่พอกลับมาอ่านเรื่องที่แสนจะซีเรียสในไดอารีอีกครั้งใน 16 ปีต่อมา เรากลับพบความไร้เดียงสาของตัวเองที่บันทึกอะไรก็ได้ที่ทำให้ตัวเองสบายใจ หรือพูดสรุปสั้นๆ ว่าสะเหล่อสัดๆ โปรเจกต์ "หนังสือพม่า" กลับมาอีกครั้งโดยตั้งอยู่บนความจริงใจต่อความไร้เดียงสานั้น ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เราตั้งคำถามกับชีวิต เป็นเวลาฟูมฟายกับความโชคร้ายของตัวเองให้เสียงดังพอจะเรียกร้องความสนใจ ความเมตตาจากพระเจ้า โดยหวังว่าปาฏิหาริย์ อะไรสักอย่างจะเกิดขึ้นกับเราบ้าง
ผมเริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้อีกครั้งด้วยความรู้สึกและท่าทีที่ต่างไป ไม่ต้องพยายามตลกกับมันมาก ไม่ต้องพยายามเศร้ากับมันมาก แค่จริงจังกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้มากที่สุดก็พอ น่าแปลกใจที่คราวนี้ผมเขียนต้นฉบับจากไดอารีเล่มเก่าได้อย่างราบรืนและสบายใจ หรืออาจเพราะถึงเวลาของมันแล้วก็ได้มั้ง หนังสือเล่มนี้เขียนจากไดอารีของตัวเองที่จดบันทึกไว้ใน ช่วงเวลาที่ฟุ้งซ่านที่สุดของชีวิต เนื้อเรื่อง ภาษา และความรู้สึกต่างๆ อาจจะไม่ถูกต้องบ้างในบางจังหวะ มีการเรียกร้องความสนใจที่อาจจะขัดใจบ้างในบางบรรทัด ก็อยากให้ใจเย็นๆ ซักหน่อย เพราะนี่เป็นเรื่องของเด็กติดเพื่อนคนนึง ที่ต้องใช้เวลาวัยรุ่นเพียงครั้งเดียวในชีวิตที่พม่า ขอพื้นที่ให้มันเวิ่นเว้อหน่อยนะ
วิชัย
รีวิวโดยสำนักพิมพ์ : โยดายาบอย
ตลอดการเขียนหนังสือเล่มนี้ วิชัยบอกให้เราฟังอยู่เนืองๆ ว่ากังวล เพราะสำเนียงที่เขียนและท่าทีที่ใช้ใน โยดายาบอย นั้นค่อนข้างต่างออกไปจากเล่มอื่นๆ ที่เคยเขียนมาคนอ่านอาจจะตกใจและไม่เก็ตได้ เราเลยอยากจะช่วยทำความเข้าใจเพิ่มอีกแรง ที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้ คือเรื่องราวความทรงจำที่เขียนจากไดอารีของวิชัยในช่วงปี 1999 เป็นวัยที่กำลังพร่ำบ่นก่นด่าชีวิตที่โหลยโท่ยและตัดพ้อต่อโลกใบนี้ที่ดูจะไม่เข้าใจอะไรตัววัยรุ่นอย่างเราเอาเสียเลย และในช่วงเวลาที่วัยรุ่นกำลังสับสนมากที่สุดช่วงหนึ่ง คือช่วงจบ ม.6 เตรียมเข้ามหา'ลัย นายทอง-พ่อของวิชัย กลับส่งเขาไปเรียนที่พม่า วิชัยต้องละทิ้งครอบครัว ละทิ้งเพื่อน ละทิ้งบ้าน ละทิ้งชีวิตทั้งหมดที่ประเทศไทย เพื่อไปเริ่มใหม่ในประเทศแปลกหน้าที่เขาไม่เคยคิดอยากจะไป
ทั้งนี้ หนังสือเล่มนี้ไม่ได้สะท้อนทัศนคติหรือความสัมพันธ์ ไทย-พม่า ในระดับชาติ แต่เป็นบันทึกความสัมพันธ์ระดับบุคคลแบบ hate to love ของสังคมพม่ากับนักเรียนชายชาวโยดายา (หรือโยเดีย-ชื่อที่ชาวพม่าเรียกชาวไทย) คนหนึ่ง ที่เริ่มด้วยความไม่ชอบใจ ดำเนินต่อมาเป็นความชินชา และได้กลายเป็นความทรงจำที่ขุรขระแต่งดงามเมื่อนึกถึง เรียกได้ว่าในช่วงที่ชีวิตกำลังขึ้นรูปขึ้นรอย วิชัยใช้เบ้าหลอมยี่ห้อย่างกุ้ง หล่อหลอมตัวตนของเขาขึ้นมา แม้ในตอนนั้นจะไม่ชอบใจเพียงใด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้ชีวิตในพม่าทำให้วิชัยเป็นวิชัยอย่างทุกวันนี้
สำนักพิมพ์อะบุ๊ก