รายละเอียด : บ้านน้อยหลังนี้
บ้านน้อยหลังนี้
เกิดมาเป็นตัวเป็นตน เราต่างมี "บ้าน" กับคนละหนึ่งหลังให้ใช้อยู่อาศัย เป็นบ้านที่เรามีหน้าที่ต้องคอยปัดกวาดเช็ดถูให้สะอาดเหมาะแก่การพักพิง บางคราวพื้นบ้านผุ หลังคารั่ว ท่าประปาแตก ก็ต้องซ่อมแซม เปลี่ยนอะไหร่กันไป...ตามหน้าที่
บ้านแต่ละหลังอาจมีอายุการใช้งานไม่เท่ากัน และบางชิ้นส่วนก็ไม่มีอะไหล่ให้เปลี่ยนเสียด้วย... เราทำนุบำรุง ดูแล ซ่อมแซม เพื่อให้อยู่อาศัยได้อย่างมีความสุขที่สุด แต่เมื่อไหร่ที่บ้านผุพัง เสียหายเกินเยียวยา (ปลวกกินทั้งหลัง) หมดอายุ การใช้งาน เราก็ต้องทิ้งมันไป เพราะมันเป็นบ้านเช่าชั่วคราว ไม่ใช่บ้านของเราอย่างแท้จริงถาวร
คงมีน้อยคนนักที่จะคิดเผื่อใจไว้ล่วงหน้าขณะยังมีสุขภาพแข็งแรงดีอยู่ว่าตัวเองอาจป่วยด้วยโรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง ต่อให้คนรู้จักรอบข้างเป็นมะเร็งกันโครม ๆ ยังไงก็คงคิดว่าเราคงไม่โชคร้ายขนาดนั้นหรอก... ฉันเอง....ถึงจะไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะต้องมาเป็นผู้ป่วยมะเร็งเข้าจนได้ แต่ก็ต้องนับว่าโชคดีที่พอจะมีต้นทุนที่ดีช่วยเกื้อหนุนจิตใจไม่ให้ย่ำแย่อย่างการฝึกปฏิบัติจิตภาวนามาก่อนป่วยหลายปีด้วยความสนใจในการฝึกหัดขัดเกลาจิตใจเป็นการส่วนตัวตั้งแต่ที่ยังไม่ได้ถูกผลัก-ชักนำจากความทุกข์หนักหนาอันใด ทำให้รู้ซึ้งเห็นชัดว่าธรรมะนี่ละที่สามารถพาให้รอด... ไม่ได้แค่รอดจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่เป็นไปได้ถึง...รอดจากทุกข์ทั้งปวงเลยทีเดียว
หนังสือเล่มนี้ เป็นบันทึกประสบการณ์ซ่อมบ้านครั้งสำคัญที่อยากบอกเล่าแก่ญาติพี่น้อง มิตรสหาย และเชื่อว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยและผู้ที่ต้องดูแลคนป่วยด้วยเช่นกัน
คำนำ : บ้านน้อยหลังนี้
ความเจ็บป่วยของแต่ละคนมักมีลักษณะเฉพาะตัว แม้เป็นโรคเดียวกัน มีพยาธิสภาพหรืออาการทางกายเหมือนกันแต่ปฏิกิริยา การตอบสนอง และพัฒนาการของโรค ก็หาได้เหมือนกันไม่ ทั้งนี้เพราะร่างกายและจิตใจของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไม่มีใครที่ซ้ำกันเลย ดังนั้นจึงส่งผลที่แตกต่างกันไปด้วย แม้กระนั้นเมื่อใดคนหนึ่งล้มป่วย ประสบการณ์ของเขา รวมทั้งวิธีการเยียวยาของเขา ย่อมมีประโยชน์ต่อผู้อื่นอยู่เสมอ อย่างน้อยก็เป็นบนเรียนสำหรับผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคเดียวกัน แต่ถึงแม่จะยังมีสุขภาพดีปกติ ความเจ็บป่วยของผู้อื่นย่อมเป็นสิ่งเตือนใจให้เราตระหนักว่า สักวันหนึ่งเราก็ต้องล้มป่วย เพราะความเจ็บป่วยเป็นธรรมดาของทุกชีวิต
ในบรรดาโรคร้ายที่ผู้คนหวาดกลัวนั้น มะเร็งอยู่ในอันดับต้น ๆ เพราะนอกจากรักษายาก และมีผลถึงตายแล้ว ยังแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางทุกหนแห่ง กล่าวได้ว่าผู้คนในสังคมสมัยใหม่แทบทุกคนล้วนมีมิตรสหายหรือญาติใกล้ชิดที่ตายด้วยโรคมะเร็งหรือกำลังเจ็บป่วยด้วยโรคนี้กันทั้งนั้น แต่ยิ่งโรคนี้น่ากลัวมากเท่าไร ก็ยิ่งสมควรที่เราจะรู้จักโรคนี้ให้มากขึ้น รวมทั้งเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ มิใช่เพื่อดูแลตนเองให้ห่างจากโรคนี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเตรียมพร้อมรับมือเมื่อโรคนี้เกิดขึ้นกับตนด้วย
"เพลงดาบแม่น้ำร้อยสาย" เป็นผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่พบว่ามีก้อนมะเร็งในรังไข่ของตน เรื่องราวของเธอนับตั้งแต่วันแรกที่พบความคิดปกติในร่างกาย ได้ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างตรงไหตรงมาและเป็นกันเองเหมือนกับกำลังเล่นเรื่องให้เพื่อนฟัง พาผู้อ่านไปพบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ราวกับอยู่ในเหตุการณ์นั้น ๆ กับเธอ นอกจากจะรับรู้ได้ถึงความรู้สึกของผู้ป่วยที่ผ่านกระบวนการรักษาต่าง ๆ มากมาย ทั้งผ่าตัด และเคมีบำบัดในโรงพยาบาลแล้ว ยังได้เห็นถึงกระบวนการดูแลรักษาตนเองของเธอ ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการรักษาของแพทย์และพยาบาล
ในการบำบัดโรคมะเร็งนั้น (อันที่จริงรวมถึงการบำบัดโรคอื่นด้วย) การดูแลรักษาใจมีความสำคัญไม่น้อยกว่าการดูแลรักษากาย เพราะเมื่อคนเราล้มป่วย เราไม่ได้ป่วยกายเท่านั้น หากยังป่วยใจด้วย เช่น เกิดความเครียด วิตกกังวล หวาดกลัว หรือโกรธเกรี้ยว อารมณ์เหล่านั้นสามารถฉุดร่างกายให้ทรุดลง หรือซ้ำเติมความเจ็บปวดให้รุนแรงขึ้นบางคนแม้มะเร็งยังอยู่ในชั้นเริ่มต้น ไม่แสดงอาการทางกายจนทำให้เจ็บป่วย แต่หากตื่นตระหนก หรือหวาดวิตกแล้วก็อาจทำให้กินไม่ได้ นอนไม่หลับ จนถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อซึ่งเท่ากับเร่งให้มะเร็งลุกลามเร็วขึ้น แต่หากดูแลจิตใจดี ยอมรับความจริงได้ นอกจากใจจะไม่ทุกข์แล้ว ยังช่วยให้การดูแลรักษากายเป็นไปด้วยดี
พระไพศาล วิสาโล
สารบัญ : บ้านน้อยหลังนี้
- "รู้ได้ไงว่าเป็นเนื้องอก...ปวดท้องหรือว่าเจ็บ?"
- ฉันจะเลือกอะไรได้ไหม ?
- ผ่าตัดครั้งแรกในชีวิต
- ผลการผ่า
- ตั้งหลัก
- ทำไมถึงเป็นมะเร็ง
- ผ่าตัดครั้งที่สอง
- ลมหายใจ...อุปกรณ์สำคัญ
- เตรียมตัว เตรียมใจรับเคมีบำบัด
- เคมีบำบัด
- วงจรชีวิต 21 วัน
- บวชอยู่บ้าน
- กิจวัตรประจำวัน
- แผนผังบนหลังมือ
- อาการ อารมณ์ อาเพศ
- อาหาร-การกิน
เนื้อหาปกหลัง : บ้านน้อยหลังนี้
เราต่างมี "บ้าน" ให้อยู่อาศัยครละหนึ่งหลังมีหน้าที่ทำนุบำรุงดูแลให้ใช้สอยได้นาน ๆ ถ้าบ้านผุพัง ก็ต้องซ่อมแซมมันไปตามหน้าที่จนถึงวันที่มันหมดอายุการใช้งาน ซ่อมไม่ได้ ก็ต้องทิ้งมันไปเพราะเป็นเพียงที่อาศัยชั่วคราว ไม่ใช่ที่พักพิงจริงแท้ถาวร
ร่างกาย...ไม่ว่าจะบำรุงดูแลดีสักแค่ไหน ซะลอความเสื่อมได้มากเพียงใด แต่นับวันก็มีแต่จะเสื่อมถอยไม่เหมือนจิตใจ...ที่ยิ่งดูแลรักษา เอาใจใส่พัฒนาก็มีแต่จะยิ่งเจริญงอกงาม มั่นคงเข้มแข็ง เป็นที่พึ่งให้เราได้อย่างแท้จริง