รายละเอียด : เรื่องสั้นโนเบลชุดที่ 21 :Six Feei of the Country
เรื่องสั้นโนเบลชุดที่ 21 :Six Feei of the Country
ผมกับภรรยาไม่ใช่ชาวนาแท้ ๆ หรอก ยิ่งเลริชยิ่งแล้วใหญ่ ฟาร์มของเราอยู่บนถนนใหญ่ห่างจากตัวเมืองโจฮันเนสเบิร์กประมาณ 10 ไมล์ ผมคิดว่าที่เราซื้อที่นี่เอาไว้ ก็หวังเพียงเพื่อจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในชีวิต คุณอาจจะรู้สึกรำคาญใจกับชีวิตคู่แบบของเรา คุณคงไม่ปรารถนาจะได้ยินเรื่องราวอะไรเลยนอกจากความเงียบล้ำลึกอันน่าพึ่งพอใจเมื่อพูดถึงเรื่องชีวิตคู่ ซึ่งแน่ละ... ฟาร์มแห่งนี้ไม่ได้เตรียมสิ่งเหล่านั้นไว้ให้เรา แต่กลับให้สิ่งอื่นแก่เราแทนโดนที่เราไม่ได้คาดหวังและไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย
เดิมทีผมคิดว่า เลริชคงจะใช้เวลาราวสักเดือนหรือสองเดือนอยู่ที่นี่จนคลายความโศกเศร้า จากนั้นก็ปล่อยปาร์มนี้ให้พวกคนใช้ดูแลต่อ ส่วนเธอก็คงพยายามต่อไปเพื่อให้ได้บทที่เธอปรารถนา แล้วก็ได้เป็นนักแสดงสมใจเสียที แต่แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เธอกลับจมอยู่กับการดูแลกิจการฟาร์มต่ออย่างทุ่มเทและเอาจริงเอาจัง ทั้ง ๆ ที่ครั้งหนึ่งดื่มด่ำกับเงาร่างที่ออกมาจากความคิดของนักเขียนบทละครจนผมต้องยอมจำนนต่อความคิดที่ว่าเธอไม่เหมาะกับที่นี่ไปจนได้ มือของเธอซึ่งครั้งหนึ่งเคยขาวนวล บอบบาง และได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี แม้เธอจะไม่ใช่ดาราประเภทที่ชอบทาเล็บสีแดงและสวมแหวนเพชนก็เถอะ เดี๋ยวนี้มันหยาบกระด้างราวกับอุ้งเท้าสุนัข
สารบัญ : เรื่องสั้นโนเบลชุดที่ 21 :Six Feei of the Country
- รอยแยกของแผ่นดิน
- บรรยากาศดี เพื่อนบ้านเป็นมิตร
- มารดาของแผ่นดิน
- รักกลางเมือง
- รักต่างสี
- รอยด่างของชีวิต
- เรื่องเล่าจากหมู่บ้าน
- การขับขานภายในของ นาดีน กอร์ดิเมอร์ โดย เจ.เอ็ม. คุตเซีย
เนื้อหาปกหลัง : เรื่องสั้นโนเบลชุดที่ 21 :Six Feei of the Country
ผลงานของนักเขียนรางวัลโนเบลปี 1991 นักเขียนอันตรายในสายตารัฐบาลในขณะนั้นแค่ครั้นเมื่อเธอได้รับรางวัลโนเบลผลงานของเธอได้สร้างความเข้าใจให้กับผู้คนโลกจ้องมองเรื่องสิทธิมนุษยชน จนแอฟริกาใต้ได้สร้างจิตสำนึกใหม่หลุดจากการกดขี่และความแตกแยกในระดับที่พร้อมต่อการก้าวสู่โลกสมัยใหม่ภาพของ นาดีน กอร์ดิเมอร์ จึงยังทรงอิทธิพลและเป็นที่กล่างถึง
การแบ่งแยกและความชัดแย้งมิใช่ถูกสร้างขึ้นมาโดยพระเจ้าแต่ด้วยมนุษย์นี่เอง มนุษย์แยกผิวสีกดขี่ผู้ที่ด้อยกว่า นี่คือผลงานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งร่วมขบวนไปกับการเติบโตของแอฟริกา
รีวิวโดยผู้เขียน : เรื่องสั้นโนเบลชุดที่ 21 :Six Feei of the Country
เธอเป็นผู้หญิงคนแรกในรอบ 25 ปีที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เมื่อปี ค.ศ.1991 และเป็นผู้หญิงหนึ่งในเจ็ดคนที่ได้รับรางวัลนี้ มารดาของแผ่นดิน
บัณฑิตสภาสวีเดนได้กล่าวสดุดีเธอไว้ว่า "นาดีน กอร์ดิเมอร์ ผู้ซึ่งงานเขียนอันสละสลวยดุจมหากาพย์ของเธอเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างมหาศาล"
นาดีน กอร์ดิเมอร์ เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ.1923 ที่สปริงในเขตทรานสวาล ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ และอุดมไปด้วยแหล่งแร่ทองคำ อยู่ห่างจากโจฮันเนสเบิร์กราว 30 ไมล์ เป็นลูกสาวของช่างนาฬิกาและพ่อค้าเพชรชาวยิวซึ่งอพยพมาจากลิธัวเนีย มารดาของเธอเป็นชาวอังกฤษ มีน้องสาวคนหนึ่งชื่อ เบตตี้ วอล์ฟ ซึ่ง "เติบโตในฟากอันนุ่มนวลของเครื่องกั้นแบ่งผิว" เธอพบว่าสังคมของชนชั้นกลางที่ได้รับค่านิยมและขนบธรรมเนียมมาจากยุโรปนั้นช่างไร้ชีวิตชีวา เธอจึงใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างโดดเดี่ยวและน่าเบื่อไปกับการอ่านหนังสือเป็นส่วนใหญ่
พ่อแม่ของเธอไม่ได้มีจิตสำนึกทางการเมืองเลยแม้แต่น้อย แต่จากการอ่านหนังสือและเรียนรู้โลกรอบตัวของเธอเอง เธอจึงเริ่มตั้งคำถามต่อท่าทีของชาวแอฟริกาใต้ผิวขาวและพบว่าเธอมิได้มีอคติต่อชาวผิวดำเช่นเดียวกับพวกนั้น "ฉันไม่ได้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนผิวขาวที่อาศัยอยู่รอบ ๆ เมืองหลวงที่คอยแต่จะเอาแบบอย่างชาวยุโรปเท่านั้น" เธอกล่าว "แต่ฉันอยู่ท่ามกลางผู้คนหลายผิวสีหลายเผ่าพันธุ์ การค้นพบนี้เป็นความรื่นรมย์ส่วนตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้สึกนี้ทำให้เกิดสำนึกทางการเมืองในการวิพากษ์วิจารณ์อำนาจของคนผิวขาว แต่เนื้อแท้ของงานเขียนก็ยังคงเป็นอิสรภาพส่วนบุคคล"
จิตราภรณ์ วนัสพงศ์
รีวิวโดยสำนักพิมพ์ : เรื่องสั้นโนเบลชุดที่ 21 :Six Feei of the Country
กว่าแอฟริกาจะเดินหน้าด้วยคำว่าแผ่นดินสีรุ้ง ผู้คนในดินแดนแห่งนี้ได้ตกอยู่ภายใต้สงครามกลางเมืองอย่างแสนสาหัสเป็นธรรมดาที่ดินแดนใดมีความอุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรหรือประโยชน์โภชน์ผล ย่อมทำให้ดินแดนแห่งนั้นเต็มไปด้วยการช่วงชิง ผู้คนถูกแบ่งแยกแล้วทำสงครามห้ำหั่นกัน นวนิยาย ที่มีชื่อว่า "ร้องไห้เถิดแผ่นดินที่รัก" (Cry, The Belove Country) ของอลัน พาตัน ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในประเทศไทยในช่วงใกล้กับเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ทำให้เราเข้าใจสังคมในยุคอาณานิคมได้ดีมากขึ้น ปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ เหล่านี้น่าจะเป็น "ครู" ให้เราตระหนักต่อความขัดแย้งที่เรากำลังเผชิญหน้า-ที่ในที่สุดแล้วหลายคนบอกว่ามิเพียงแต่ครูเท่านั้น แต่กำลังจะทำให้เรากลายเป็นอธิการบดีเสียด้วยซ้ำ
นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่ชาวโปรตุเกสได้ฝ่าเข้ามาถึงฝั่งของประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเปรียบได้กับจุดพักระหว่างทางก่อนมุ่งสู่อินเดีย หลังจากนั้นแอฟริกาใต้ก็ได้ต้อนรับการมาเยือนของคนหลากเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นฮอลันดาฝรั่งเศส เยอรมัน ไอร์แลนด์ กรีก ยิว อิตาลี ไม่เว้นแม้แต่จีน มาทั้งในรูปแวะพักไม่ผูกพัน ทั้งอพยพตั้งถิ่นฐาน ทำการค้า การก่อตั้งบริษัทดัตช์อีสต์อินเดียขึ้นที่เมืองเคปทาวน์ เพื่อเป็นตัวกลางการค้ากับคนตะวันตก ปริมาณการค้าการลงทุนได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น มีความต้องการแรงงานเพื่อการผลิตและบริกสนให้เพียงพอ เกิดอุตสาหกรรมเกษตรที่ใช้พื้นที่จำนวนมากในช่วงปี 1657 ทำให้มีการนำแรงงานทาสจากมาดากัสการ์มายังบริษัทดัตซ์อีสต์อินเดีย สนองตอบต่อความต้องการแรงงาน