รายละเอียด : พุทธประวัติ ฉบับ พระพุทธรูป ๘๐ ปาง
พุทธประวัติ ฉบับ พระพุทธรูป ๘๐ ปาง
ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงเล่าประวัติย่อของพระองค์ว่าเราผู้โคตมโคตร เกิดในตระกูลศากยะ เมื่องกบิลพัสดุ์ บิดาเป็นพระราชานามว่า สุทโธทนะ มารดาผู้ให้กำเนิดนามว่า มายาเทวีเราอยู่ครองเรือน ๒๙ ปี มีประสาทงดงาม ๓ หลัง แวดล้อมด้วยหญิงที่ประดับดีแล้วนับหมื่นนาง มีพระชายานามว่า ยโสธราบุตรชื่อว่าราหุล เราเห็นทุกข์ในความแก่ ความเจ็บและความตายพอใจกับการแสวงหาความหลุดพ้นจากทุกข์ดังกล่าว ออกผนวชโดยมีม้าเป็นพาหนะ ทำความเพียรถึง ๖ ปี ทำในสิ่งที่ใครๆ ทำได้ยากบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณอันสูงสุดใต้ร่มโพธิ์ ประกาศธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี คู่อัครสาวกของเรามีนามว่าสารีบุตร และโมคคัลลานะ การประชุมสาวกครั้งสำคัญมีครั้งหนึ่งผู้เข้าประชุมล้วนแต่เป็นพระชีณาสพจำนวน ๑,๒๕๐ รูป อุปัฏฐากผู้เลิศของเรามีชื่อว่า อานนท์
คำนำ : พุทธประวัติ ฉบับ พระพุทธรูป ๘๐ ปาง
พระพุทธรูปปางต่างๆ ที่พุทธบริษัทการบูชานั้น นิยมสร้างขึ้นตามพุทธจริยาที่ปรารฏในพุทธประวัติ ตามคำแนะนำของพระเถระและนักปราชญ์ในพระพุทธศาสนาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสิ่งสักการบูชาของพุทธบริษัท และน้อมนำรำลึกถึงเหตุการณ์ในพระพุทธประวัติ อันจะเป็นการเพิ่มพูนศรัทธาในการศึกษาและปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้น
คำว่า "ปาง" นั้น หมายถึง พระจริยาของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในพุทธประวัตินั่นเอง ฉะนั้น พระพุทธรูปที่เราสักการบูชาจึงสามารถสืบค้นเรื่องราวในพุทธประวัติได้ทุกปาง แต่ทุกครั้งที่มีการสักการบูชาพระพุทธรูปนั้น หาได้มีความเข้าใจพุทธประวัติเสมอไปไม่ ถ้าไม่มีศรัทธาที่ตั้งมั่นอย่างดีแล้ว (ศรัทธาที่ดีย่อมมีความรู้ที่ถูกต้อง (ปัญญา) ประกอบด้วยเสมอ) การบูชาพระพุทธรูปก็อาจถูกครอบงำโดยแนวคิดอื่นได้ง่าย และทำให้พลาดไปจากการบูชาที่ถูกต้องตามพุทธประสงค์
ผู้เรียบเรียงปรารถนาเชิดชูบูชาคุณพระเถระและปวงปราชญ์ในพระพุทธศาสนา ที่มีกุศลเจตนาได้สร้างสิ่งเคารพบูชาไว้แก่อนุชน และเห็นว่าเป็นการสมควรยิ่งที่พุทธบริษัทจะรู้จักพุทธจริยาที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปที่ตนเคารพบูชา อันเป็นการรำลึกถึงพระคุณของพระบรมศาสดาอย่างแท้จริง
ในการเรียบเรียงนั้น ได้ศึกษาข้อมูลจากวรรณกรรมพุทธประวัติหลายเล่ม นำมาสรุปความเป็นประวัติย่อของพระพุทธรูปแต่ละปางให้จบเป็นตอนๆ ไป ทั้งนี้มิได้ละทิ้งเรื่องที่ปาฏิหาริย์และพระคุณอันน่าอัศจรรย์ของพระพุทธองค์ ด้วยตระหนักถึงความเป็นอจินไตยแห่งพระพุทธเจ้าที่มีพุทธานุภาพหาที่สุดมิได้
เทพพร มังธานี
สารบัญ : พุทธประวัติ ฉบับ พระพุทธรูป ๘๐ ปาง
- ปางประสูติ
- ปางมหาภิเนษกรมณ์
- ปางทรงตัดพระเมาลี
- ปางอธิษฐานเพศบรรพชิต
- ปางปัจจเวกขณะ
- ปางทุกรกิริยา
- ปางสดับพิณสามสาย
- ปางทรงสุบิน
- ปางทรงรับมธุปายาส
- ปางลอยถาด
- ปางทรงรับหญ้าคา
- ปางสมาธิเพชร
- ปางมารวิชัย
- ปางตรัสรู้ (ปางสมาธิ)
- ปางถวายเนตร
รีวิวโดยสำนักพิมพ์ : พุทธประวัติ ฉบับ พระพุทธรูป ๘๐ ปาง
ก่อนพระผู้มีพระภาคเจ้าจักเสด็จดับขันปรินิพพาน พระอานนท์ทูลถามว่า จักให้พุทธบริษัทถือสิ่งใดเป็นเครื่องรำลึกแทนพระองค์ ทรงตรัสให้ถือเจดีย์ ๔ ประเภท คือ ธาตุเจดีย์ เจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ บริโภคเจดีย์ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับได้แก่ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน ธรรมเจดีย์ วัตถุที่จารึกพระธรรมสำสอนอุทเทสิกเจดีย์ ได้แก่ พระพุทธรูป เป็นเครื่องรำลึกแทนพระองค์ ซึ่งหากผู้ใดยึดเจดีย์ ๔ เป็นเครื่องรำลึกแล้วจักทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้าจิตของเขาย่อมผ่องใส เป็นสุขในปัจจุบัน ครั้นตายไปย่อมบังเกิดในสวรรค์
พระพุทธรูปจัดเป็นหนึ่งในเจดีย์ ๔ ประเภทที่พระพุทธเจ้าตรัสให้ยึดถือเป็นเครื่องรำลึกแทนพระองค์ พระพุทธรูปที่ปรากฏตามสถานที่ต่างๆ นั้น อิริยาบถและท่าทางจะสร้างตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงตามพุทธประวัติ ดังนั้น พระพุทธรูปแต่ละปางที่สร้างขึ้นนอกจากเป็นเครื่องสักการะแล้วยังบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าเอาไว้ด้วย หากชาวพุทธกราบพระพุทธรูปแล้วได้รู้ถึงประวัติความเป็นมาของพระพุทธรูปปางนั้นๆ ด้วยก็จักเป็นการยังศรัทธาให้แนบแน่นในพระพุทธศาสนามากขึ้น
หนังสือ พุทธประวัติ ฉบับพระพุทธรูป ๘๐ ปาง เรียบเรียงโดย เทพพร มังธานี เล่มนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมภาพพระพุทธรูปปางต่างๆ ไว้ทั้ง ๘๐ ปาง พร้อมบอกลักษณะและประวัติที่เกี่ยวข้อง เรียงลำดับตั้งแต่ปางประสูติจนถึงปรินิพพาน เป็นคู่มือในการศึกษาลักษณะพระพุทธรูปที่มีอยู่มากมาย และเรียนรู้พุทธประวัติได้เป็นอย่างดี
ษริษัท สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ จำกัด