รายละเอียด : บ้านในโคลน
บ้านในโคลน
ราวปี ๒๕๕๕ ผมจิบกาแฟร้านประจำ น้องนักเลงพระรู้จักกันพาเด็กหนุ่มคนหนี่งมาแนะนำตัว เขาบอกว่าอ่านเรื่องสั้นและอยากเขียนมาก สองวันต่อมาเขาเอาเรื่องสั้นหัดเขียนมาให้สอง-สามเรื่อง แค่ดูต้นฉบับ ย่อหน้าการใช้เครื่องหมายคำพูด เขาก็เหมือนผมตอนปี ๒๕๑๙-๒๕๒๐ คือไม่เป็น น่าขำเสมอ ผมอ่านงานเขาจบ บอกว่าความอยากเขียนเป็นต้นทุนหลัก เรียนรู้พัฒนาคือสิ่งต้องทำให้หนัก ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆโดยเฉพาะการยอมรับในฐานะ "นักเขียน" บอกให้เขียนเรื่องใหม่มาอีก
ผมถามเขาถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติที่กะทูน เขาบอกตอนนั้นเขายังเด็ก...พอจำอะไรได้บ้าง ผมบอกว่าเราไม่ต้องจำเองทั้งหมด เรื่องแต่งคือเรื่องเล่า ถามพ่อ ถามลุง ถามแม่ แล้วเอามาเขียน ในชีวิตเราถามคนอื่นกันอยู่แล้ว โลกใหญ่เกินกว่าจะรู้หมดคนเดียว
จำลอง ฝั่งชลจิตร
สารบัญ : บ้านในโคลน
- ช่วงที่หนึ่ง : บ้านที่เป็นความหวัง
- พ่อกำลังสร้างบ้านใหม่
- เรือนของปู่
- บ้านของนก
- เพื่อนพ่อมาช่วยมุงหลังคา
- พ่อกับเพื่อน ๆ
- ช่วงที่สอง : บ้านที่เป็นความทรงจำ
- พ่อทิ้งผมให้อยู่กับย่า
- น้ำมาแล้ว
- บ้านพ่อหายไปตอนเช้า
- จิตใจของลุงหมีบ้า
- เรือนปู่ก็ลอยไป
- ฯลฯ
เนื้อหาปกหลัง : บ้านในโคลน
ผมถามถึงเขากับเหตุการณ์ภัยพิบัติที่กะทูน เขาบอกตอนนั้นยังเด็ก จำอะไรได้บ้าง ผมบอกว่าเราไม่ต้องจำเองได้หมด เรื่องแต่งคือเรื่องเล่า ถามพ่อ ถามแม่ แล้วเอามาเชียน เราตามคนอื่นกันอยู่แล้ว "โลกใหญ่เกินกว่าจะรู้หมดคนเดียว" (บางส่วนจากคำนำ - จำลอง ฝั่งชลจิตร)
รีวิวโดยผู้เขียน : บ้านในโคลน
ผมรับปากจะเขียนนิยาย ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าจะเขียนเรื่องอะไร เพราะชีวิตวัยเด็กหลังประสบภัยน้ำท่วมดินโคลนถล่มของผมมันเต็มไปด้วยร่องรอยของความยากลําบาก ภาพของความเจ็บปวด ความอดอยาก การไม่มีอย่างที่เด็กวัยเดียวกันหลายๆ คนเขามี ผมนั่งคิดนอนคิดทบทวนถึงชีวิต ชุมชน และสิ่งรอบๆ ตัว เดินไปทางไหนก็ครุ่นคิดอยู่แต่เรื่องนี้ ผมพยายามมองหาแง่มุมชีวิต หวังจะเอามุมใดมุมหนึ่งมาเขียน นิยายสักเรื่อง อะไรบ้างพอจะเป็นเรื่องเล่าให้น่าจดจํา อะไรบ้างคือภาพความประทับใจในวัยเด็ก ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมามีช่วงเวลาไหนบ้างพอจะเอามาเล่าให้เป็นนิยาย หมาดําที่พ่อไปเจอตรงคอสะพานกลางดึกคืนหนึ่งตอนกลับมาจากบ่อนไพ่แล้วเก็บมาให้ผมเลี้ยง หมาที่ชื่อว่าไอ้หมี เพื่อนสี่ขา แสนดีผู้พร้อมจะปกป้องและติดตามผมไปทุกหนทุกแห่ง เรื่องที่แม่ต้องจากบ้าน จากเราไปทํางานไกลถึงต่างประเทศ หรือจะเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับต้นพุทราหน้าบ้าน ต้นพุทราที่ผมกับน้องชายสุดรัก สุดหวงแหน และพร้อมที่จะปกป้องจากเด็ก เกเรที่ชอบเอาไม้มาฟาดลูกอ่อนๆ เล่น ต้นไม้ที่เราคิดว่ามันคือสมบัติอันสุดจะมีค่า ผลไม้ที่เรารู้สึกว่ามันหอมหวานและอร่อยที่สุดเท่าที่เคยกิน ทั้งยังเป็นที่พึ่งยามเราอ่อนแอ เป็นที่พักใจยามคิดถึงแม่ที่จากพวกเราไปทํางาน ยามไม่มีใครสนใจเรา ต้นพุทราเต็มไปด้วยหนามต้นนั้นแหละคอยเป็นเกราะป้องกันเราจากทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นที่ให้เราขึ้นไปหลบยามถูกพ่อดุด่า
แล้วอะไรล่ะคือความสุขสมหวังในวัยเด็ก อะไรเล่าคือภาพความทรงจําสวยงามในตอนนั้น สิ่งไหนผมควรจะเอาออกมาเล่าในรูปแบบของนิยายดีๆ สักเรื่อง ผมครุ่นคิดเรื่องพวกนี้อยู่เป็นเดือนๆ จนผ่านล่วงไปเป็นหลายเดือน ผมแวะเวียนเข้าไปพูดคุยนั่งจิบกาแฟกับพี่จําลองบ่อยขึ้น บอกเล่าถึงบางช่วงบางตอนของชีวิตวัยเด็ก พี่จําลองพูดให้กําลังใจเสมอ ว่าสิ่งเหล่านั้นคือต้นทุนที่เราได้มาแล้ว เรื่องการเขียนนิยาย ต้องรอเวลาให้ค่อยๆ คิด นึกกลับไปดีๆ สักวันจะคว้ามันได้อย่างแน่นอน และในช่วงหลายเดือนนี้พี่จําลองแนะนําให้ผมอ่านหนังสือใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนั้นดี เรื่องนี้ดี อันไหนควรอ่าน สิ่งไหนต้องอ่าน ก็คอยรื้อคอยหา คอยให้หยิบยืม ทําให้ผมสะสมต้นทุนทางด้านการอ่าน-เขียนเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ
จนมาถึงเย็นวันหนึ่งของเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ หลังจากแยกกับพี่จําลองที่ร้านกาแฟประจํา ขณะผมก้าวเท้ามุ่งตรงไปยังลานจอดรถยนต์ ภาพๆ หนึ่งผุดขึ้นมาในความรู้สึก เป็นภาพบ้านหลังแรกของพ่อที่ยังมีแต่โครงหลังคา มันทําให้ผมรู้ได้ทันทีเลยว่าผมจะเล่าถึงภาพชีวิตช่วงไหน จะเริ่มประโยคแรกของนิยายอย่างไร ให้มันไปจบลงตรงไหน อะไรคือความงามของชีวิต และสิ่งนั้นผมก็เพิ่งค้นเจอจากก้นบึงของความทรงจํา ถึงแม้ว่ามันจะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่อย่างไรก็ตามผมยังพอมีภาพความสุขแห่งชีวิตวัยเด็กที่สดใสงดงามอยู่บ้าง
กิตติศักดิ์ คเชนทร์
รีวิวโดยสำนักพิมพ์ : บ้านในโคลน
ผมถามเขาถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติที่กะทูน เขาบอกตอนนั้นเขายังเด็ก...พอจําอะไรได้บ้าง ผมบอกว่าเราไม่ต้องจําเองทั้งหมด เรื่องแต่งคือเรื่องเล่า ถามพ่อ ถามลุง ถามแม่ แล้วเอามาเขียน ในชีวิตเราถามคนอื่นกันอยู่แล้ว โลกใหญ่เกินกว่าจะรู้หมดคนเดียว ผมบอกให้เขาเขียนนิยายเกี่ยวกับเรื่องโคลนถล่มมา อ่านสักเรื่อง--ผมรอ หลายเดือนต่อมาเขาเอาต้นฉบับหนา เกือบ ๒๐๐ หน้าเอ ๔ มาให้ มือใหม่คือมือใหม่ เราต้องอ่านอย่างอดทน หลังผมทิ้งไว้นาน ผมบอกให้เขาเก็บต้นฉบับร่างแรกไว้ เพราะมันเป็นครู ลายมือแก้ กับเส้นลากโยงต่างๆ แม้โหดเหี้ยมน่าทดท้อมันจะทําให้เขาจํา รอยไม้เรียวถูกจดจําเสมอ
เขาแก้ร่างที่สองมา ดีขึ้นเล็กน้อย เขาเข้าใจมากขึ้น ต่อมาผมพาเขาไปค่ายต่างๆ เขาอาจได้ฟังบรรยายทางอ้อม โดยวิทยากรอื่นๆ ไปกันหลายที่ อยากให้เขายกระดับการเรียนรู้วรรณกรรม การเขียน คนเราแม้อยากอยู่คนเดียว ทำคนเดียว วันหนึ่งต้องพ่ายแพ้คนใฝ่รัก ผมคืนร่างสอง ในสภาพเยินน้อยกว่าครั้งแรกมาก แล้วครั้งที่สามก็กลับคืนมาในฐานะมือใหม่ น่าพึงพอใจ เราจะรออ่านชิ้นเอกจากมือใหม่หวังมากเกินไปแล้ว ขอเพียงเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ชวนอ่าน เห็นโศกนาฏกรรม เห็นความทุกข์ ความหวัง ความฝันของตัวละคร ก็มากพอแล้ว
จำลอง ฝั่งชลจิตร