รายละเอียด : คนขี่เสือ
คนขี่เสือ
He Who Rides a Tiger ของภวานี ภัฏฏาจารย์ นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ชาวอินเดีย ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษในปี พ.ศ.๒๔๙๗ นี่คือวรรณกรรมที่สะท้อนปัญหาความเลื่อมล้ำทางชนชั้นในสังคมอินเดีย อันเกิดจากความเชื่อและวัฒนธรรม ด้วยมุมมองและศิลปะการประพันธ์ที่โดดเด่น การวางโครงเรื่องใหญ่กับโครงเรื่องย่อยที่สอดสัมพันธภาพอย่างลงตัว โครงเรื่องและตัวละครย่อยล้วนขมวดรัดรอบตัวละครหลักอย่างมีเอกภาพ ขับเน้นตัวละครให้มีมิติความเป็นมนุษย์อย่างเต็มศักยภาพ เมื่ออ่านนิยายเล่มนี้ของเขาจึงก่อผลสะเทือนใจอย่างใหญ่หลวง และบีบรัดหัวใจของผู้อ่านอย่างลึกซึ้ง ถือเป็นวรรณกรรมเพชรน้ำเอกแห่งการต่อสู้เรื่องหนึ่งที่โลกเคยมีมา และแน่นอนสำหรับภาคภาษาไทยสำนวนของจิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด นักเขียน นักต่อสู้ของประชาชน ได้ถ่ายทอดสารตรงตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์อย่างสมบูรณ์
คำนำ : คนขี่เสือ
"บาบา ประชาชนร้องอวยชัยให้บาบา! บาบา ถึงสักร้อยเทวาลัยก็ยังมีค่าไม่เทียมเท่าเหตุการณ์ตอนนี้! บาบา หลังจากนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นแก่เรา ไม่ว่าแห่งหนตำบลใดที่เราไป เราจะไม่ไร้ความสุขอีกต่อไป เราจะไม่พ่ายแพ้อีกแล้ว" He Who Rides a Tiger เป็นนวนิยายเรื่องที่ ๓ ของถวานี ถัฏฏาจารย์ เนื้อหาเข้มข้นสื่อถึงการต่อสู้ทางชนชั้นวรรณะ ต่อสู้กับขนบความเชื่อโบร่ำโบราณที่คนคดโกงใช้เป็นเครื่องมือกดขี่ผู้ด้อยโอกาส สำนักพิมพ์ไทยควอลิตี้บุ๊คส์เป็นอีกสำนักพิมพ์ที่ซาบซึ้งในวรรณกรรมล้ำค่าที่มีเนื้อหาเชิดชูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เรื่องนี้ สำนักพิมพ์ระลึกถึงคุณของบรมครู จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้แปลวรรณกรรมอมตะเรื่องนี้มาสู่นักอ่านชาวไทย เราได้พยายามอย่างสุดกำลังความสามารถเพื่อให้นวนิยายเรื่องนี้ออกมาอย่างสมบูรณ์ที่สุดให้สมกับความพยายามของผู้เขียนและผู้แปล สุดท้ายนี้สำนักพิมพ์ขอคารวะจิตวิญญาณของภวานี ภัฏฏาจารย์ ด้วยใจจริง ที่ได้ทำหน้าที่ของศิลปินอย่างสมบูรณ์เพื่อให้ศิลปะรับใช้สังคมอย่างเต็มภูมิ และ He Who Rides a Tiger ก็ได้ทำหน้าที่นี่อย่างสัตย์ซื่อสนองปณิธานของผู้เขียนแล้ว
เนื้อหาปกหลัง : คนขี่เสือ
"ไอ้เรือนร่างของเราที่เห็นอยู่นี่ก็คือผงคลีดิน มันย่อมกลับคืนไปเป็นดินเป็นลมต่อไป แต่ร่างในกายนั้นไม่มีวันตาย เป็นอมตะเหมือนไฟหรือแสงสว่าง"
บางส่วนในเรื่องคนขี่ไฟ
"งานของภวานี ภัฏฏาจารย์ มีชั้นเชิงทางศิลปะกับทั้งดลใจให้เกิดความตระหนักรู้ทางสังคม พัวพันกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานที่ และจากแนวเรื่องอันเกี่ยวข้องกับการแสวงหาอิสรภาพของเขา ทำให้ภัฏฏาจารย์ทีความโดดเด่นขึ้นมาในท่ามกลางนักเขียนร่วมสมัยของอินเดีย
นวีนตา และ ดร ปูมาน รานี
"ชื่อเรื่อง He Who Rides a Tiger อาจตีความได้ถึงความสัมพันธ์กับแก่นแท้ของความหิวโหย การนั่งและควบขี่บนหลังเสือบ่งบอกถึงการแสวงหาทางออกจากความหิว ทว่าภาพลักษณ์ของเสือนั้นถือเป็นสัตว์ที่แสนดุร้าย พร้อมที่จะขย้ำเหยื่ออันโอชะอย่างมนุษย์โดยไม่ลังเล นี่แหละคือความหิวโหย"
นนเนปาคะ สารมีลา รานี องค์ปาฐกอาวุโสแห่งวิทยาลัยสราดาย ปาตาละ รัฐเตลังคานะ
"นี่คือนวนิยายชิ้นเอกอีกเรื่องหนึ่งของภวานี ภัฏฏาจารย์ แนวคิดเชิงจิตวิญญาณ ในเรื่อง "He Who Rides a Tiger " ได้สะท้อนผ่านตัวละครหลักอย่างกาโล เขาคือภาพลักษณ์ของการตระหนักรู้ในตัวเอง การยึดถือในแนวคิดของตัวเองอย่างเคร่งครัด และการปฏิรูปทางสังคม
นวีน เค. นวีน อาจารย์ประจำแผนกทักษะการสื่อสารแห่งสถาบันเทคโนโลยีมหากาฬ แห่งนครอุจจาน