รายละเอียด : ความเป็นผู้นำทางการศึกษา
ความเป็นผู้นำทางการศึกษา
คําว่าผู้นําที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้ บรรณาธิการเห็นว่าไม่ได้เพียงแต่คนที่อยู่ในตําแหน่งบริหารเท่านั้น แต่เพื่อนครูทุกคนก็อาจจะเป็นผู้นําได้ เพราะผู้นําที่เรากล่าวถึงนี้คือผู้ซึ่งรู้หลักคิด สาระ และแนวปฏิบัติทางการศึกษา พร้อมทั้งคิดล้ำหน้าการศึกษาในปัจจุบันไปแล้ว
เมื่อวางขอบเขตของผู้นําเช่นนั้นแล้วจึงได้จัดเรื่องที่ผู้อ่านซึ่งมีความเป็นผู้นําอยู่ในตัวทุกคนน่าจะอ่านและเมื่อรู้แล้วได้ประโยชน์คือ เรื่องของความเป็นผู้นําในด้านต่าง ๆ บทบาทของการบริหารจัดการ งานของผู้นําทางการศึกษา โดยเฉพาะการส่งเสริมผู้เรียนและการส่งเสริมผู้ร่วมงาน ที่สําคัญอีกประการหนึ่งคือ ผู้นําทางการศึกษาต้องตามให้ทันกับความคิดใหม่และการกระทําใหม่ เราจึงมีทั้งเรื่องการบริหารระบบ VUCA Agile CCPR Model Talent Management ตลอดจน ศตวรรษที่ 21 และแนวคิด 4.0 ซึ่งจบลงที่โลกในอนาคตหลังโลกาภิวัตน์
ไพฑูรย์ สินลารัตน์, นักรบ หมี้แสน บรรณาธิการ
สารบัญ : ความเป็นผู้นำทางการศึกษา
- บทนํา : การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเป็นหน้าที่ของผู้นําทางการศึกษา (ไพฑูรย์ สินลารัตน์)
- ความเป็นผู้นําทางการศึกษา (ภารดี อนันต์นาวี)
- ผู้นําทางด้านหลักสูตรและการสอน (อโนทัย แทนสวัสดิ์)
- ผู้นํากับการวิจัยและการประกันคุณภาพ (วีระยุทธ ชาตะกาญจน์)
- ผู้นําทางความคิด (ไพฑูรย์ สินลารัตน์)
- ผู้นําการเปลี่ยนแปลง (จักรกฤษณ์ สิริริน)
- ผู้นําเชิงสร้างสรรค์และผลิตภาพ (ไพฑูรย์ สินลารัตน์)
- ภาวะผู้นําใหม่ในสถานการณ์ที่คาดการณ์ไม่ได้และไม่แน่นอน (ไพฑูรย์ สินลารัตน์)
- บทบาทเชิงรุกของผู้นําการศึกษาไทย (วิสุทธิ์ วิจิตรพัชราภรณ์)
- ความเป็นผู้นําในสังคมไทย (สินธะวา คามดิษฐ์)
- PML: หลักคิดการจัดการทางการบริหารการศึกษาใหม่ (ไพฑูรย์ สินลารัตน์)
- ฯลฯ
เนื้อหาปกหลัง : ความเป็นผู้นำทางการศึกษา
ท่านผู้นําทางการศึกษาทุกท่าน บัดนี้เวลาได้มาถึงแล้ว เหตุการณ์ได้มาถึงแล้ว และความคาดหวังก็มากแล้ว ท่านมีหน้าที่ต้องก้าวหน้าและนําสถานศึกษาของท่านให้ก้าวหน้าตามไปด้วย อย่างน้อยท่านต้องไม่ “อ่อนด้อย” และไม่ “ไม่เอาไหน” อย่างที่การศึกษาในปัจจุบันเป็นอยู่ ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว
บทนํา : การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเป็นหน้าที่ของผู้นําทางการศึกษา (ไพฑูรย์ สินลารัตน์)
รีวิวโดยสำนักพิมพ์ : ความเป็นผู้นำทางการศึกษา
ขอให้ท่านผู้อ่านอ่านคํานํานี้ก่อนอ่านเนื้อหา เป็นที่น่าสนใจมากที่หนังสือ “ความเป็นผู้นําทางการศึกษา” เล่มที่ท่านกําลังอ่านอยู่นี้ได้รับการจัดพิมพ์ขึ้นถึง 3 ครั้ง ในช่วงเวลา 1 ปี โดยพิมพ์ครั้งแรก ในเดือนเมษายน 2560 ในเดือนตุลาคม 2560 ก็ได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 พอมาถึงเดือนสิงหาคม 2561 ก็ได้รับการพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยการพิมพ์ครั้งที่ 3 นี้ สํานักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กรุณารับจัดพิมพ์และได้ดําเนินการให้มีผู้อ่าน (Reviewer) ช่วยประเมิน บรรณาธิการขอขอบคุณสํานักพิมพ์ และผู้ประเมินในครั้งนี้ด้วย
ออกจะเป็นที่แปลกที่ว่าการศึกษาไทยสนใจเรื่องความเป็นผู้นํากันมากขึ้น ซึ่งจุดอ่อนของการศึกษาไทยที่ขาดความเป็นผู้นําก็ชัดเจน เพียงแต่เรามองไปในอดีตไม่ไกลนักและเหลียวมองรอบตัวเพียงเล็กน้อยเราจะเห็นชัดว่า การศึกษาไทยอ่อนแอเรื่องความเป็นผู้นําอย่างมาก การศึกษาไทยได้รับคําวิจารณ์ในทางลบอย่างกว้างขวาง ผลการเปรียบเทียบหรือจัดอันดับในกลุ่มไหนก็ตาม การศึกษาไทยตกต่ำเกือบทุกกลุ่ม ซึ่งเราก็รู้กันมานานแล้วแต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงภาพความอ่อนแอของผู้นําหรือผู้บริหารการศึกษาไทยจึงได้รับการตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงความเป็นเยี่ยมที่เราคาดหวัง
บรรณาธิการเห็นว่าในปัจจุบันนี้การศึกษาไทยต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่อย่างพลิกโฉมเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ได้ การศึกษาไทยต้องการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทันทีทันใด การศึกษาไทยต้องก้าวข้ามการ “เอาตัวรอด” ไปสู่ “ความเป็นเลิศ” ให้ได้ เราต้องทําการศึกษาไทยไปสู่การศึกษาใหม่ที่สร้างสรรค์และก้าวหน้า
ไพฑูรย์ สินลารัตน์, นักรบ หมี้แสน บรรณาธิการ