รายละเอียด : ตามรอย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช, พระเจ้าเสือ, ท้าวทองกีบม้า, ออกญาเสนาภิมุก (ยามาดา)
ตามรอย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช, พระเจ้าเสือ, ท้าวทองกีบม้า, ออกญาเสนาภิมุก (ยามาดา)
ราชวงศ์ปราสาททอง เป็นราชวงศ์ที่ 4 ครองอาณาจักรอยุธยา เป็นเวลา 59 ปี มีกษัตริย์ครองราชย์ 4 พระองค์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199 - พ.ศ. 2231) พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ครองราชย์ได้ 32 ปี ในยุคของพระองค์นับเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองและการค้าแห่งภูมิภาค ดังนั้นจึงมีเรื่องราวต่างๆ มากมายล้วนควรแก่การศึกษา สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ใคร่อยากรับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ หรือคนรุ่นเก่าที่อยากรับรู้เพราะต้องการรื้อฟื้นเรื่องราวที่เคยรับรู้มาก่อน ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตัวเอกที่ไม่มีใครไม่รู้จักก็คงไม่แคล้ว "เจ้าพระยาวิชเยนทร์" "พระเทพราชา" "พระเจ้าเสือ" และ "ท้าวทองกีบม้า" ท่านเหล่านี้มีบทบาทหน้าที่ที่สอดคล้องทำให้เกิดเรื่องราวต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะยิ่ง "พระเจ้าเสือ" กับ "เจ้าพระยาวิชเยนทร์" ผู้ซึ่งนับเป็นไม้เบื่อไม้เมากัน จนพระเจ้าเสือต้องออกอุบายกำจัดโดยวิธีการลอบฆ่า สถานที่คือ "วัดซาก" ตั้งอยู่ใน อ.เมือง ด้านตะวันออกเฉียงเหนือเลยจากศาลพระกาฬไป และยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่สำคัญๆ เกิดขึ้นภายในสถานที่ของ จ.ลพบุรี เมืองที่มีหลากหลาย เป็นวัฒนธรรมที่ควรศึกษาค้นคว้าอีกเมืองหนึ่ง
สารบัญ : ตามรอย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช, พระเจ้าเสือ, ท้าวทองกีบม้า, ออกญาเสนาภิมุก (ยามาดา)
ตามรอย...สมเด็จพระนารายณ์มหาราช, พระเจ้าเสือ, เจ้าพระยาวิชเยนทร์, และท้าวทองกีบม้า
- ๑ "ลพบุรี" เมืองในตำนาน "พระนางจามเทวี" และถิ่นกำเนิด "พระเจ้าสายน้ำผึ้ง"
- ๒ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ ถูกลอบฆ่าที่ "วัดซาก" เมืองลพบุรี
- ๓ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ กับตำนาน "เหยี่ยวนกเขา"
- ๔ การต้อนรับราชทูตของฝ่ายสยาม และการต้อนรับราชทูตสยามของฝ่ายฝรั่งเศส
- ๕ บันทึก "ราชทูต"
- ๖ "พระที่นั่งเย็น" หอจันทรุปราคาและสุริยุปราคาแห่งแรกของไทย
ออกญาเสนาภิมุกขุนนางญี่ปุ่นในราชสำนักอยุธยา
- ๑ ที่มาของชาวต่างชาติในอยุธยา
- ๒ ญี่ปุ่นเดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
- ๓ ยามาดา นางามาซา (ออกญาเสนาภิมุข) เริ่มมีบทบาท
- ๔ ยุคของพระเจ้าทรงธรรม
๕ ก่อตั้งหมู่บ้านญี่ปุ่น
- ๖ ยามาดา นางาซา (ออกญาเสนาภิมุข) เข้ามามีบทบาทในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา
เนื้อหาปกหลัง : ตามรอย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช, พระเจ้าเสือ, ท้าวทองกีบม้า, ออกญาเสนาภิมุก (ยามาดา)
ยุคสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นยุคทองของกรุงศรีอยุธยา เป็นศูนย์กลางความเจริญและการค้าแห่งภูมิภาค รวมถึงการขยายอำนาจทางการทหารและการเมืองระหว่างประเทศอันโดดเด่น ความยิ่งใหญ่ของสยามที่แผ่อาณาเขตกว้างไกลไปจนถึงทวายและมะริด กล่าวได้ว่า ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นช่วงประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อสยามประเทศอย่างมหาศาล
ตามรอย...สมเด็จพระนารายณ์มหาราช, พระเจ้าเสือ, เจ้าพระยาวิชเยนทร์, ท้าวทองกีบม้า, ออกญาเสนาภิมุก (ยามาดา) หนังสือที่บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ของบุคคลทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวจนกลายเป็นเรื่องราวอันหลากหลายที่ควรค่าต่อการศึกษาอย่างแท้จริง
รีวิวโดยผู้เขียน : ตามรอย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช, พระเจ้าเสือ, ท้าวทองกีบม้า, ออกญาเสนาภิมุก (ยามาดา)
ผมเขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ "สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์" นานแล้วและเรื่องของ เจ้าพระยาวิชเยนทร์, ท้าวทองกีบม้า, ขุนหลวงสรศักดิ์ และ "พระเจ้าเสือ" ใครๆ ก็รู้จัก พอเกิดกระแสขึ้นต่างก็หันมาสนใจถามไถ่กัน ผมก็เลยต้องตัดสินใจนำมาพิมพ์เป็นเล่มให้ได้อ่านกันเต็มๆ
สมัยที่คุณไถง สุวรรณทัต ส.ส ขาเดียวของพรรคประชาธิปัตย์ไปสร้างหมู่บ้านเศรษฐกิจ และเริ่มหันมาทำหนัง เริ่มจากเรื่อง "พระลอ" ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ ตามด้วย "รักนิรันดร์" ท่านก็คิดอ่านสร้างเรื่อง "เจ้าพระยาวิชเยนทร์" ร่วมกับฮอลลีวู้ด พี่ชายของเอื้อน อ่านอารีย์นักประดิษฐ์ตัวหนังสือประจำห้องบล็อก "มิตรภาพ" ซึ่งเป็นเพื่อนรักกันเขียนฉากแต่ละฉากไว้เพื่อการถ่ายทำ ทำนองสตอรี่บอร์ด ผมยังมีโอกาสเห็นและชอบใจฉากที่ราชทูตเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันเป็นฉากที่อลังการมาก จดจำมาถึงบัดนี้ซึ่งเป็นเวลา ๕๐ ปีว่าแล้ว
ฉะนั้น ครั้งแรกเมื่อประมาณสิบกว่าปีมาแล้ว เกิดกระแสข่าวเรื่องขุนหลวงสรศักดิ์ไปดักฆ่าเจ้าพระยาวิชเยนทร์ที่วัดซาก ผมก็เลยติดตามไปดูพื้นที่ ก็ค้นหากันอยู่นานกว่าจะพบ ปรากฏว่าอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เกือบจะออกนอกอำเภอเมืองลพบุรี ความจริงผมลืมเรื่องนี้ไปแล้ว แต่จู่ๆ ก็เกิดกระแสจากละครที่นำเรื่องราวเหล่านี้มาเขียนขึ้นในรูปนิยาย ทางสำนักพิมพ์เห็นว่าควรจะนำมาพิมพ์เพื่อเผยแพร่ ผมจึงต้องค้นหาต้นฉบับมาปัดฝุ่นใหม่ในเรื่องนี้ยังพอมีเรื่องพิธีการทูตทั้งของฝรั่งและของไทย
ท้ายเล่มแถมเรื่อง "ออกญาเสนาภิมุข" หรือ "มายาดา" ขุนนางชาวญี่ปุ่นที่มาทำเรื่องอื้อฉาวในกรุงศรีอยุธยา ปลายยุคพระเจ้าทรงธรรมเชื่อมต่อต้นยุคพระเจ้าปราสาททอง เป็นเรื่องที่มีการช่วงชิงราชสมบัติคล้ายยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยุคสมัยก็ใกล้ๆ กัน น่าจะเป็นกรณีศึกษาของผู้คนในยุคสมัยต่อมา
ผมไปค้นคว้าเรื่องนี้ตั้งแต่หมู่บ้านญี่ปุ่นยังไม่สร้างขึ้น ร่องรอยของการเผาไหม้ยังทิ้งไว้ให้เห็นมากมาย ผมจำได้ว่ากลางหมู่บ้านญี่ปุ่นที่ว่านี้มีแค่กระถางธูปวางไว้ และเสาซีเมนต์กร่อนเอนปักอยู่ มีจารึกเกี่ยวโยงมาถึงพระยามไหสวรรย์ ซึ่งจำไม่ได้แน่ชัดว่าจะเป็นนักเขียนญี่ปุ่นหรือไม่ผิดพลาดอย่างไรขออภัย
จะเห็นว่ายุคสมัยและเรื่องราวเหมือนเลียนแบบกัน การนำทหารเข้าล้อมวังโดยอ้างว่าเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ก่อนที่พระเจ้าแผ่นดินจะสวรรคต (สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม) น่าจะเรียกได้ว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
สาเหตุที่ผมเดินทางไปค้นคว้าเรื่องราวของ "ยามาดา" ในครั้งนั้นก็เพราะถูกบังคับให้เขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง "ออกญาเสนาภิมุข" ตอนที่ผมไปนอกจากจะเห็นร่องรอยการถูกเผาของหมู่บ้านญี่ปุ่นแล้วยังได้เห็นพ่อค้าหัวใสงมเอาพวกถ้วยชามขึ้นมาจากท่าน้ำหน้าหมู่บ้านทำทีว่าเป็นของเก่าสมัยโน้นจมอยู่ ก็ไม่รู้ว่าจะมีของเก่าจริงสักกี่ชิ้นนี่เป็นที่มาของสารคดีประวัติศาสตร์ทั้งสองเรื่องซึ่งน่าศึกษาอย่างยิ่ง
ภราดร ศักดา
รีวิวโดยสำนักพิมพ์ : ตามรอย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช, พระเจ้าเสือ, ท้าวทองกีบม้า, ออกญาเสนาภิมุก (ยามาดา)
ได้ทราบว่าสารคดีประวัติศาสตร์เรื่องนี้ คุณภราดร ศักดา เขียนลงในหนังสือพิมพ์ "สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์" นานมาแล้ว เมื่อมีคนถามหาทางสำนักพิมพ์จึงได้จัดพิมพ์เป็นเล่มขึ้น ผู้เขียน (คุณภราดร ศักดา) ได้ลงพื้นที่สำรวจสืบเสาะค้นคว้า และยังได้นำสัญญาการค้าขายระหว่างสยามกับฝรั่งเศสมาลงไว้ด้วย สัญญานี้ทางฝรั่งเป็นคนร่างขึ้นเอง ในเรื่องนี้ท่านผู้อ่านจะได้ทราบถึงพิธีทางการทูตในสมัยนั้น ซึ่งบางกรณีบางอย่างก็สวนทางกับความนึกคิดของเราไม่น้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าศึกษา
นอกจากจะเขียนเรื่อง "ตามรอย...สมเด็จพระนารายณ์, พระเจ้าเสือ, เจ้าพระยาวิชเยนทร์, และ ท้าวทองกีบม้า" แล้ว ก็ยังมีเรื่อง "ออกญาเสนาภิมุข ขุนนางญี่ปุ่นในราชสำนักอยุธยา" เพิ่มเข้าไปอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อความสมบรูณ์ของเนื้อหา ให้ท่านผู้อ่านได้ลองเปรียบเทียบดูว่าการช่วงชิงราชสมบัติและวิธีการต่างๆ มีแนวทางละม้ายคล้ายคลึงกัน อีกทั้งยุคสมัยของทั้งสองเรื่องก็อยู่ในช่วงระยะเวลาที่ใกล้ๆ กันด้วยถือว่าหนังสือเล่มนี้มีความสำคัญในเรื่องการบอกเล่าถึงความเป็นมาในด้านประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อยทีเดียว ขอบคุณท่านผู้อ่านที่ให้ความสนใจและให้การสนับสนุนเสมอมา
สำนักพิมพ์แสงดาว