รายละเอียด : ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
สมัยกรุงศรีอยุธยา มียุคทองเกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นทางการค้า ทางการทูต การรบและสงครามนับเป็นประวัติศาสตร์ที่มีมากสีสัน เป็นศูนย์กลางอำนาจของไทยมาอย่างยาวนานถึง 417 ปีก็ถึงกาลล่มสลายในยุคที่ราชวงศ์บ้านพลูหลวงขึ้นปกครองแผ่นดิน ราชวงศ์บ้านพลูหลวงนับเป็นราชวงศ์ที่ 5 และเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองกรุงศรีอยุธยาก่อนการเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปีพ.ศ.2310 ในราชวงศ์ฯ นี้มีพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น 6 พระองค์ เริ่มตั้งแต่สมเด็จพระเทพราชา จนถึงรัชกาลสุดท้ายคือสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ รวมระยะเวลาในราชวงศ์นี้คือ 79 ปี
เหตุที่อยุธยาอ่อนแอจนถึงกาลล่มสลายนั้น เพราะเกิดความขัดแย้งตลอดราชวงศ์ เกิดการแตกแยกแบ่งเป็นก๊กเป็นฝ่าย ทั้งการแช่งชิงราชสมบัติกันเอง กระทั่งปลายแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับศึกนอก ท่ามกลางความอ่อนแอภายใน กองทัพพม่ายกมาล้อมทั้งทางเหนือทางใต้ ระยะเวลาเพียง 1 ปี 2 เดือน อยุธยาก็แตกในที่สุด จึงถือเป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์บ้านพลูหลวงพร้อมๆกับการเสียกรุงในเวลาเดียวกัน
สารบัญ : ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
- บทที่ ๑ ต้นรัชกาลของสมเด็จพระเพทราชา เมื่อดินขึ้นมาอยู่บนฟ้า
- บทที่ ๒ ชีวิตข้าราชการ ภายใต้สมเด็จพระเพทราชา
- บทที่ ๓ กรมหลวงโยธาเทพ ราชธิดาสมเด็จพระนารายณ์
- บทที่ ๔ กรมหลวงโยธาทิพ
- บทที่ ๕ เมื่ออ้ายกบฏธรรมเถียรคิดโค่นสมเด็จพระเพทราชา
- บทที่ ๖ เมื่อพระยารามเดโชแข็งเมืองต่อสมเด็จพระเพทราชา
- บทที่ ๗ พระยายมราชสังข์ ยอดทหารแขก กบฏต่อสมเด็จพระเพทราชา
- บทที่ ๘ เมื่ออ้ายลาวบุญกว้างกับพรรคพวก ๒๘ คน จะตีกรุงศรีอยุธยา
- บบที่ ๙ โชคชะตาของบาทหลวงฝรั่งเศส ในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา
- บทที่ ๑๐ เมื่อพระเจ้าเสือต่อยปากเจ้าพระยาวิชเยนทร์
- บทที่ ๑๑ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินต่อยมวย
- บทที่ ๑๒ โอรสสองพี่น้องของพระเจ้าเสือ
- บทที่ ๑๓ เมื่อพระเจ้าเสือทรงเข้าหาลูกสาวเจ้าพระยาราชวังสรรค์เสนา
- บทที่ ๑๔ พิจารณาเรื่องของศรีปราชญ์ จากบันทึกของฝรั่งและไทย
เนื้อหาปกหลัง : ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
นักประวัติศาสตร์ไทยสมัยโบราณ ไม่มีใครชอบกษัตริย์ในราชวงศ์พลูหลวง รวมทั้งหลวงวิจิตรวาทการ บิดาของผู้เขียน เพราะมีความเห็นว่าราชวงศ์นี้เริ่มต้นมาจากที่ต่ำ สมเด็จพระเพทราชาเองก็ทรงเป็นเพียงควาญช้างมาก่อน สมเด็จพระเจ้าเสือนั้นทรงมีราศีสูงกว่า เพราะแท้จริงเป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์ แต่โอรสสององค์ของพระเจ้าเสือก็มิได้เป็นกษัตริย์ที่ดีเด่นแต่อย่างใด
ซ้ำมาถึงรัชกาลของขุนหลวงหาวัดและขุนหลวงขี้เรื้อน ประเทศชาติก็อาภัพหนักสุด ที่มีประมุขอ่อนแอไร้ความสามารถไร้สติปัญญาที่จะปกครองประเทศ บ้านเมืองจึงแตกสลายถูกทำลาย แต่แท้จริง... หากเราชาวไทยที่ศึกษาราชวงศ์บ้านพลูหลวงจะตัดสินว่ากษัตริย์ในราชวงศ์นี้ไม่ดีไปทุกพระองค์ ก็ดูจะไม่ยุติธรรมนัก!
รีวิวโดยผู้เขียน : ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้น ประกอบด้วยสมเด็จพระเพทราชา ต้นราชวงศ์ สมเด็จพระเจ้าเสือ ที่ได้ทรงเป็นกำลังสำคัญในการแย่งชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พอพระทัยเสวยปลาตะเพียน ถึงขนาดออกพระราชกำหนด มิให้ผู้ใดตกปลาตะเพียนมากิน นอกจากพระองค์เอง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งเกือบไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระเชษฐาพยายามกีดกันพระราชบัลลังก์ ไว้ให้แก่โอรสของพระองค์เอง สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ไม่ค่อยจะทรงเต็มพระทัยเป็นพระเจ้าแผ่นดินนัก เพราะทรงเกรงขุนหลวงขี้เรื้อนพระเชษฐา พอสถานการณ์เครียดก็ทรงหนีออกบวชเป็นพระภิกษุ จนได้อีกพระนามหนึ่งว่า ขุนหลวงหาวัด และองค์สุดท้ายในราชวงศ์บ้านพลูหลวงคือขุนหลวงขี้เรื้อน หรือ สมเด็จพระสุริยาศน์อมรินทร์ กษัตริย์อ่อนแอไร้ความสามารถ ที่นำความหายนะมาสู่กรุงศรีอยุธยาได้ในที่สุด
นักประวัติศาสตร์ไทยในสมัยโบราณ ไม่มีใครชอบนิยมกษัตริย์ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง รวมทั้งหลวงวิจิตรวาทการ บิดาของผู้เขียน เพราะมีความเห็นว่า ราชวงศ์นี้เริ่มต้นมาจากที่ต่ำ สมเด็จพระเพทราชาเองก็ทรงเป็นเพียงควาญช้างมาก่อน สมเด็จพระเจ้าเสือนั้น ทรงมีราศีสูงกว่า เพราะแท้จริงเป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์เอง ประสูติจากพระสนมที่สมเด็จพระนารายณ์ได้มอบให้พระเพทราชาดูแล แต่โอรสสององค์ของพระเจ้าเสือ ก็มิได้เป็นกษัตริย์ที่ดีเด่นแต่อย่างใด ซ้ำเมื่อมาถึงรัชกาลของขุนหลวงหาวัดและขุนหลวงขี้เรื้อน ประเทศชาติก็อาภัพหนักสุด ที่มีประมุขอ่อนแอไร้ความสามารถ ไร้สติปัญญาที่จะปกครองประเทศให้ร่มรื่น หรือปกครองประเทศให้พ้นจากภัยอันตรายได้ บ้านเมืองจึงแตกสลายถูกทำลาย เมื่อศึกพม่ามาประชิด
แท้จริงหากเราชาวไทยที่ศึกษาราชวงศ์บ้านพลูหลวง จะตัดสินว่ากษัตริย์ในราชวงศ์นี้ไม่ดีไปทุกพระองค์ ก็ดูจะไม่ยุติธรรมนัก เพราะคุณงามความดีที่สมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระเจ้าเสือ และพระเจ้าแผ่นดินองค์ต่อๆ มาได้ทรงประกอบไว้ ก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน ในปลายรัชกาลของมหาเสนาบดีได้ดำเนินหลักการเมืองจนมีผลให้ฝรั่งต่างชาติ ชาวอังกฤษและฝรั่งเศสมีอำนาจอย่างสูงในพระราชวัง เจ้าพระยาวิชเยนทร์ อัครเสนาบดีชาวกรีกเป็นที่โปรดปรานพอพระทัยของสมเด็จพระนารายณ์ จนพระองค์ทรงเห็นขุนนางฝรั่งดีกว่าขุนนางไทย เช่นพระเพทราชา เป็นต้น มิได้ทรงตระหนักรู้เห็นว่า แท้จริงเจ้าพระยาวิชเยนทร์เจ้าเล่ห์นั้น มีแผนการลับที่จะถวายประเทศสยาม ให้แก่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งกรุงฝรั่งเศส ในฐานะเป็นประเทศราชหรือเมืองขึ้น ที่กรุงสยามดำรงเอกราชอยู่ได้ในยุคนั้น ก็เพราะพระเพทราชาและพระเจ้าเสือ นำเหล่าขุนนางไทยทำการปฏิวัติแย่งชิงอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ และประหารชีวิตเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ขับไล่กองทหารฝรั่งเศสออกจากกรุงสยามเสีย ไทยเราจึงได้พ้นอันตราย สมเด็จพระเจ้าเสือนั้น ทรงเป็นบุคคลที่มีความกตัญญูอยู่ในดวงจิต เพราะถึงแม้จะทรงตระหนักดีว่า พระองค์เป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์ แต่เมื่อทรงเติบโตเจริญพระวัยมาเป็นเพราะพระคุณของพระเพทราชา ก็ทรงยกให้พระบิดาไม่แท้นี้ ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินก่อน พอพระทัยที่จะดำรงตำแหน่งพระราชวังบวรมาจนสมเด็จพระเพทราชาสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระนั้น แท้จริงก็มิได้ทรงตกเบ็ดเสวยปลาตะเพียนอยู่อย่างเดียว แต่ได้แสดงพระปรีชาสามารถขุดคลองมหาชัย คลองเตร็ดน้อย ต่อเรือใหญ่บรรทุกช้างไปขายต่างประเทศและทำสงครามกู้เมืองเขมรกลับมาจากเมืองญวณ ด้วยเหตุนี้ จึงพอจะกล่าวได้ว่า คุณงามความดีและความสามารถของกษัตริย์ในราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้นก็มีเป็นที่ประจักษ์แก่ชนชาวไทยรุ่นหลังไม่น้อย
ผู้เขียนได้ตัดสินใจเริ่มต้นหนังสือเล่มนี้ โดยนำบทความในหนังสือประวัติศาสตร์สากล เล่มที่ ๓ ของท่านบิดา หลวงวิจิตรวาทการ เกี่ยวกับกษัตริย์ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง มาลงให้ท่านผู้อ่านก่อน ทั้งนี้เพราะต้องการให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์โดยละเอียด ก่อนที่จะอ่านเกร็ดประวัติศาสตร์และเรื่องสนุกเล็กๆ น้อยๆ ของผู้เขียนเอง ผู้เขียนหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความพอใจจากการศึกษาประวัติของชาติไทย จากทัศนะของบิดาคือหลวงวิจิตรวาทการ และจากบุตรชายคนหนึ่งที่พยายามตามรอยเท้าของท่าน
นพ.วิบูล วิจิตรวาทการ
รีวิวโดยสำนักพิมพ์ : ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
กรุงศรีอยุธยา มีเอกราช มีความเจริญรุ่งเรือง มียุคทองเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นยุคทองการค้า ทางการทูต การรบและสงคราม มีตำนาน มีประวัติศาสตร์อันมากสีสันของกรุงศรีอยุธยาให้เล่าขาน ให้ได้ศึกษาเรียนรู้และกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางอำนาจของไทยมาอย่างยาวนานถึง ๔๑๗ ปี ก็ถึงกาลล่มสลายในยุคที่ราชวงศ์บ้านพลูหลวงขึ้นปกครองแผ่นดิน
กษัตริย์ในราชวงศ์นี้มีใครบ้าง ใครมีคุณูปการ ใครสร้างความเสื่อมสลาย วิเคราะห์เจาะลึกลงไปในแต่ละพระองค์ การศึกษาค้นคว้าเรื่องราวของราชวงศ์บ้านพลูหลวงนั้น มิใช่เพื่อมุ่งหาข้อผิดพลาดเพื่อกล่าวโทษชนชั้นปกครอง แต่ทว่า นี่เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ของแผ่นดินด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และเชื่อว่า กษัตริย์ในราชวงศ์บ้านพลูหลวงมิใช่ไม่ดีไปเสียทุกพระองค์ จึงต้องเพ่งพินิจด้วยสายตาที่เป็นธรรม ในหลากหลายมิติและหลากมุมมอง
ราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นราชวงศ์ที่ ๕ และเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองกรุงศรีอยุธยาก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ มีพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์ทั้งสิ้น ๖ พระองค์ โดยเริ่มตั้งแต่ สมเด็จพระเพทราชา ขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. ๒๒๓๑ จนถึงรัชกาลสุดท้ายคือสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ รวมระยะเวลาของราชวงศ์นี้คือ ๗๙ ปี
อาณาจักรอยุธยานั้นอ่อนแอลงเรื่อยๆ นับแต่ราชวงศ์นี้ขึ้นปกครองด้วยมีความขัดแย้งตลอดราชวงศ์ ทั้งการแตกแยกเป็นก๊กเป็นฝ่าย ทั้งการแย่งชิงราชสมบัติ ราชวงศ์นี้เริ่มต้นจากการแย่งชิง คือชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งราชวงศ์ปราสาททอง ผลัดราชวงศ์แล้วก็ยังแย่งชิงกันเองภายในราชวงศ์อีก จึงทำให้บ้านเมืองอ่อนแอลงตลอดมา กระทั่งปลายแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับศึกนอก ท่ามกลางความอ่อนแอภายใน กองทัพพม่ายกมาล้อมทั้งทางเหนือทางใต้ เพียง ๑ ปี กับ ๒ เดือน อยุธยาก็แตกในที่สุด จึงถือเป็นอันสิ้นสุดราชวงศ์บ้านพลูหลวง พร้อมกับการเสียกรุงในเวลาเดียวกัน
นี่จึงเป็นประวัติศาสตร์ในช่วงที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง อย่างน้อยก็เพื่อให้เห็นถึงสัจธรรมของชีวิต ถึงความเจริญรุ่งเรืองและความเสื่อมถอย อันเป็นอนุสติให้เราได้ศึกษา และเตือนใจไปด้วยในเวลาเดียวกัน
สำนักพิมพ์แสงดาว