รายละเอียด : ครอบครัวที่ลัก SHOPLIFTERS
ครอบครัวที่ลัก SHOPLIFTERS
จากภาพยนตร์รางวัล ปาล์ม ดอร์ แห่งเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ สู่นิยายที่จะทำให้คุณเข้าใจความสัมพันธ์ของครอบครัวที่แตกต่าง
เรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวหัวขโมยที่สะท้อนให้เห็นภาพอีกด้านหนึ่งของสังคมญี่ปุ่น ที่เบื้องลึกไม่ได้มีแต่สิ่งสวยงามแต่กลับมีความดำมืดที่แฝงไว้โดยที่เราไม่เคยรับรู้ โอซามุ ชายวัยกลางคนที่ไม่เพียงแต่เป็นคนงานรับจ้างรายวัน เขายังมีงานเสริมที่ไม่ค่อยจะดีนักอย่างการลักเล็กขโมยน้อย โดยมีโชตะ เด็กชายในครอบครัวเป็นผู้ช่วย วันหนึ่งขณะทั้งคู่กลับจากการขโมยของ โอซามุและโชตะได้เจอกับยูริเด็กหญิงตัวน้อยที่ถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพังคนเดียว จึงได้ตัดสินใจพาเธอกลับมาที่บ้าน แม้ว่าโนบุโยะ ภรรยาของเขาจะคัดค้านให้เขานำเด็กกลับไปส่งยังที่เดิม แต่แล้วพวกเขาก็พบว่าการให้เด็กหญิงอยู่ด้วยนั้นคือทางออกที่ดีที่สุด ทั้งสมาชิกคนอื่นในครอบครัวอย่าง สาววัยรุ่นอากิและคุณยายฮัตสุเอะก็ให้การต้อนรับและดูแลเป็นอย่างดี
แม้ครอบครัวของพวกเขาและยูริสมาชิกใหม่จะอยู่ในบ้านเก่าผุพัง ใช้ชีวิตด้วยเงินที่หามาได้เพียงน้อยนิดกอปรกับการลักขโมยที่ดูจะผิดศีลธรรมจรรยา พวกเขาก็ยังคงเป็นครอบครัวที่อยู่กันอย่างมีความสุข ทว่าในช่วงเวลาที่ทุกอย่างกำลังไปด้วยดี ความลับบางอย่างก็เริ่มเผยออกมาทำให้ทั้งครอบครัวต้องสั่นคลอน
สารบัญ : ครอบครัวที่ลัก SHOPLIFTERS
- บทที่ 1 โคร็อกเกะ
- บทที่ 2 โอฟุ
- บทที่ 3 ชุดว่ายน้ำ
- บทที่ 4 มายากล
- บทที่ 5 ลูกแก้ว
- บทที่ 6 ตุ๊กตาหิมะ
รีวิวโดยสำนักพิมพ์ : ครอบครัวที่ลัก SHOPLIFTERS
ความผูกพันทางสายเลือดจำเป็นต่อความเป็นครอบครัวไหม? สำนักพิมพ์ Maxx Publishing ดีใจมากๆ ที่ได้จัดทำนิยายที่เขียนจากภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันอย่าง shoplifters หรือ "ครอบครัวที่ลัก" ของผู้กำกับ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ เล่มนี้ให้นักอ่านได้อ่านกัน เพราะมีผู้กำกับน้อยคนนักที่ทำภาพยนตร์เกี่ยวกับครอบครัวและตั้งคำถามต่อคำว่า "ครอบ-ครัว" ด้วยแง่มุมที่แยบยลเช่นนี้ อันที่จริง นี่เป็นสิ่งที่เขาทำมาตลอดกับภาพยนตร์ของเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัวที่ปราศจากผู้ปกครองใน Nobody Knows ความสัมพันธ์ของพ่อกับลูกที่เลี้ยงมาและลูกสายเลือดเดียวกันใน Like Father, Like Son จนถึงเรื่องล่าสุดอย่าง Shoplifters ที่หลายคนถือว่านี่เป็นภาพยนตร์ "รวมฮิต" ที่โคเรเอดะนำประเด็นจากผลงานเก่าๆ ของเขามาขัดเกลาและผสมกันเพื่อสร้างสรรค์จนกลาย เป็นผลงานชั้นยอดเรื่องนี้ พิสูจน์ได้ด้วยการชนะรางวัล Palme d'Or หรือปาล์มทองคำจากนั้น ยังเป็นตัวแทนของญี่ปุ่นเพื่อชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย
แทบทุกครั้งที่เราพูดถึงคำว่า "ครอบครัว" เรามักนึกถึงกลุ่มคนที่ประกอบไปด้วยอย่างน้อยก็พ่อ-แม่-ลูก โดยที่ทั้งสามคนต่างก็มีสายเลือดและนามสกุลเดียวกัน แต่สำหรับคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากครอบครัวที่ครบองค์ประกอบแบบนั้น เช่นเด็กกำพร้า หรือแม้แต่เด็กที่ถูกพ่อแม่ข่มเหงตั้งแต่เด็ก คำว่าครอบครัวของพวกเขาอาจจะมีความหมายที่ต่างออกไป
และนิยายเรื่อง "ครอบครัวที่ลัก" ก็พูดถึงเรื่องนี้เช่นกัน ดูเหมือนผู้กำกับโคเรเอดะจะตั้งคำถามว่า จริงๆ แล้วความผูกพันทางสายเลือดจำเป็นต่อความเป็นครอบครัวไหม? ครอบครัวต้องมีครบทั้งพ่อ-แม่-ลูก และสืบเชื้อสายเดียวกันเท่านั้นหรือ? นอกจากนั้นยังตั้งคำถามต่อไปอีกว่าอะไรคือองค์ประกอบของครอบครัวที่อบอุ่น? เพียงใช้นามสกุลเดียวกันหรือมีเชื้อสายเดียวกันก็ทำให้สมาชิกอบอุ่นแล้วอย่างนั้นหรือ? หรืออันที่จริง สิ่งที่ทำให้ครอบครัวๆ หนึ่งเป็นครอบครัวที่อบอุ่น จะเป็นอย่างอื่นที่แทบไม่เกี่ยวกับสายเลือดเลย? คำถามทั้งหมดนี้ถูกถามผ่านครอบครัวที่แอบลักเล็กขโมยน้อยในนิยายเล่มนี้
กองบรรณาธิการ