รายละเอียด : ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล
(พิมพ์ครั้งแรก 2548 / 344 หน้า)
เดาไม่ออกใช่ไหมว่านี่เป็นหนังสืออะไร เรื่องนี้มีองค์ประกอบของคน ปลา ลิง มนุษย์ต่างดาว มนุษย์ล่องหน ไอน์สไตน์ พีระมิด หมอดู ฮวงจุ้ย นอสตราดามุส แอตแลนติส สามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ผี บุพเพสันนิวาส หลุมดำ การเดินทางไปดาวดวงอื่น ฯลฯ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นบนสนามฟุตบอล
ยิ่งงงกว่าเดิม? เฉลย! หนังสือเล่มนี้เป็นการตั้งคำถามเชิงปรัชญา อภิปรัชญา ศาสนา จักรวาลวิทยา ฯลฯ โดยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์และหลักกาลามสูตร ที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้นานมาแล้ว ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล เป็นแว่นขยายหนังสือ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน อีกขึ้นหนึ่ง ด้วยสไตล์การเขียนที่ไม่เครียด
คนเราเกิดมาทำไม? มนุษย์ต่างดาวสร้างพีระมิดจริงไหม? พรหมลิขิตกำหนดชีวิตเราจริงหรือ? ไสยศาสตร์ ฮวงจุ้ย หมอดู ฯลฯ เชื่อถือได้แค่ไหน? ผีมีจริงไหม? สวรรค์นรกอยู่ที่ใด? คนเราไม่มีศาสนาได้หรือเปล่า? บุพเพสันนิวาสมีจริงหรือ? คำตอบอยู่ในสนามฟุตบอลแห่งนี้
"บูรณาการของวินทร์คือบูรณาการแห่งองค์ความรู้ ประสบการณ์ อารมณ์ ความรู้สึก และวิธีมองโลกในแบบของตัวเอง พูดอีกแง่บูรณาการของวินทร์จึงเป็นบูรณาการที่เป็นพหุนิยมคือมีหลากกระบวนทัศน์ที่ใช้มองเรื่องต่างๆ และไม่พยายามตัดสินหรือหาคำตอบ ทว่าตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบความเชื่อต่างๆ ทั้งความเชื่อทางวิทยาศาสตร์และความเชื่ออื่นๆ กระทั่งความเชื่อในเรื่องที่หลายคนเห็นว่าเหนือธรรมชาติ อย่างเช่นเรื่องผี ไสยศาสตร์ ฯลฯ ...
สิ่งที่น่าชื่นชมในงานเขียนของวินทร์มี 2 อย่าง อย่างแรกก็คืออาการชอบ 'แกว่งเท้าหาเสี้ยน' ของเขา (ซึ่งวินทร์สารภาพเอาไว้ในคำนำชื่อคำถามของเด็ก) 'เสี้ยน' ของวินทร์คือคำถามถึงสิ่งต่างๆ บางครั้งอาจเป็นเสี้ยนที่ถอนออกได้ง่าย แต่หลายครั้งก็เป็นเสี้ยนชิ้นเล็กๆ ที่ฝังลึก และยากจะดึงออก"
รีวิวโดยบุ๊คเมท : ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล
ถ้ามีใครถามเราว่า หนังสือ ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล นั้นเกี่ยวกับอะไร เราคงบอกว่ามันเกี่ยวกับคนและโลก
ถ้าคำตอบนั่นกว้างเกินไป มันเกี่ยวกับทุกอย่างรอบๆ ตัวเรา ความเชื่อ วิทยาศาสตร์ ปรัชญา สังคม และชีวิต เกี่ยวกับการที่คนเราอยู่ในโลกและมองโลกใบนี้
หนังสือเล่มนี้พูดถึงเรื่องต่างๆ ครอบจักรวาล ตั้งแต่โลกและจักรวาล มนุษย์ต่างดาว ความรัก พรหมลิขิต ชาติ ศาสนา ปรัชญา ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ พลังจิต ฮวงจุ้ย ศิลปะ ไปจนถึง conspiracy theory
แต่คอนเซปต์ของเรื่องนี้คือการมองโลกโดยใช้ปัญญา
หนังสือชื่อแปลกเล่มนี้เขียนในสไตล์แปลก เราไม่รู้ว่าควรจัดเข้าหมวดไหน มันเป็นหนังสือกึ่งเรื่องแต่ง กึ่งคุย กึ่งบทความ กราฟฟิครูปเล่มสวยมากๆ (ถ้าหนังสือทุกเล่มในไทยจัดหน้าได้ประมาณนี้ เราคงอภิมหาแฮปปี้) การจัดหน้า ภาพประกอบจำนวนมากที่เอามาเล่นเป็นชาร์ตบ้าง อะไรบ้าง ทำให้การเข้าใจเรื่องราวเป็นไปโดยง่าย ทั้งที่เนื้อหาควรจะเข้าใจยาก
ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล เป็นหนังสือที่ให้ข้อมูลในประเด็นมากมาย และไม่ใช่ว่าไม่มี 'ระหว่างบรรทัด' ที่บอกว่าคนเขียนคิดอย่างไรกับประเด็นที่ถูกพูดถึง (รวมถึงชี้นำคนอ่านให้คิดตาม) ในบางประเด็น ระหว่างบรรทัดชัดเสียจนจะกระเด็นขึ้นมาบนบรรทัดด้วยซ้ำ ผู้เขียนมองว่าคนจำนวนมากติดกับอยู่กับ 'ความเชื่อ' แต่บางเรื่อง...เราว่าคนเขียนก็ติดกับกับ 'ความไม่เชื่อ' ของตัวเองเหมือนกัน ไม่เชื่อจนลืมมองมุมกลับ หรือมองบางสิ่งบางอย่างเป็นองค์รวมเกินไป (เช่นพูดถึงโหราศาสตร์เกือบทุกแขนงในลักษณะเหมา ซึ่งความจริงแต่ละแขนงต่างกันมากๆ) และทำให้เหตุผลที่ยกขึ้นมาโต้อ่อนลง และมีรอยโหว่ที่แย้งได้ว่ามันไม่พอที่จะนำมาตั้งข้อสรุป (ผู้เขียนตั้งแต่ 'ข้อสังเกต' ไม่ใช่ข้อสรุป แต่เหมือนที่บอก เราจะเห็นข้อสรุปอยู่ระหว่างบรรทัด)
แต่ (อีกที) ถามว่าหนังสือเรื่องนี้อ่อนด้อยลงไปเพราะเหตุนี้ไหม
เราคิดว่ามีบ้าง แต่ไม่มาก
เพราะคุณค่าของหนังสือไม่ใช่การทำให้คนเชื่อ หรือไม่เชื่อ แต่เป็นการสะกิดให้ทบทวนความเชื่อหรือไม่เชื่อนั้นๆ
เพราะเป็นหนังสือสไตล์กึ่งคุย มันจึงมีมุมมองของผู้เขียนปะปนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เราอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เชื่อหรือไม่เชื่อสิ่งที่หนังสือบอกมาก็ได้ ตัวเราเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้เขียนคิดไปทุกอย่าง แต่เชื่อว่านี่เป็นหนึ่งในหนังสือที่จะเตือนให้เราหันกลับมาถามตัวเองว่า เราเชื่อสารที่ออกมาตามสื่อต่างๆ ง่ายเกินไปหรือเปล่า หรือสำหรับคนที่เชื่อยากจนมองเห็น conspiracy theory ในแทบทุกเรื่อง เราคิดมากเกินไปไหม?
เราได้ใช้ 'ปัญญา' ในการคิดพิจารณาอะไรสักอย่าง หรือเราแค่ฟัง และตัดสินใจจะเชื่อในสิ่งที่อยากจะเชื่อ? สิ่งที่เราฝังหัวมา? สิ่งที่เราคิดว่า 'ต้องเป็น'?
เราดึงหลักฐานต่างๆ ที่จริงๆ แล้วไม่ใช่หลักฐาน มาหนุนความเชื่อตัวเองหรือไม่?
โดยส่วนตัวแล้ว เราคิดว่าโลกนี้มีอะไรบางอย่างที่ยังอยู่เหนือความเข้าใจของเรา เราคิดว่าทุกอย่างไม่ได้อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ (ในปัจจุบัน และอาจตลอดไป) เพราะที่สุดแล้ว วิทยาศาสตร์ก็ยังคงพัฒนาไปเรื่อยๆ และมีอีกมากมายที่โลกแห่งวิทยาการยังค้นไม่พบ และวิทยาศาสตร์ในสายตาเราก็ยังไม่ใช่ 'อาวุธทางปัญญาที่ดีที่สุด' อย่างคนเขียนบอก แต่เราก็เชื่อว่าหลายสิ่งหลายอย่างอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ และคุ้มค่าที่เราจะลองมองมันในมุมนั้น มุมกลับของคำว่า 'ไม่เชื่อแต่อย่าลบหลู่'
เราคิดว่าสิ่งต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ เราต้องแยกแยะและเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อด้วยตัวเราเอง เหมือนที่กาลามสูตรว่าไว้นั่นแหละ อย่าเชื่อจนกว่าจะพิจารณาเห็นด้วยปัญญาแล้วว่าอะไรมีประโยชน์และโทษอย่างไร และถ้าเลือกที่จะไม่เลือกทั้งเชื่อและไม่เชื่อ ก็คงไม่ผิด
แต่ไม่สำคัญว่าเราเชื่ออะไรหลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบลง สำคัญที่ว่า เมื่อปิดหนังสือเล่มนี้ลง เราเข้าใจในการเลือกที่จะเชื่อ หรือเข้าใจในสิ่งต่างๆ อย่างมีเหตุผล และมีราก เรามองโลกด้วยสายตาที่สว่างและกระจ่างขึ้น...ไม่มากก็น้อย
นี่เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่เราคิดว่าดี และถึงใครไม่อยากซื้อหนังสือเล่มนี้ไปอ่านดู เราก็อยากให้ไปที่ร้าน และหยิบหนังสือเล่มนี้พลิกขึ้นมาอ่านสองหน้าสุดท้ายของเนื้อหา สิ่งที่เรากินใจที่สุดในหนังสือเล่มนี้อยู่ในสองหน้านั้น เป็นบทสรุปที่ดี และอาจจะทำให้เราเห็นอะไรหลายอย่าง
และนึกอยากทำอะไรหลายอย่าง... ละมังนะ