รายละเอียด : งานประดิษฐ์จากใบตอง บายศรีวิจิตร
งานประดิษฐ์จากใบตอง บายศรีวิจิตร
ใบตองเป็นวัสดุสำคัญชิ้นหนึ่ง และนับว่าเป็นวัสดุหลักที่ใช้ในการทำบายศรี มีการประดิดประดอย ตกแต่งให้สวยงาม หลากหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถทำตามขั้นตอนง่ายๆ
สารบัญ : งานประดิษฐ์จากใบตอง บายศรีวิจิตร
- แบบบายศรีแก้วกินรี
- แบบบายศรีราชพฤกษา
- แบบบายศรีวราทรัพย์
- แบบบายศรีสายศรีภูมิเนรมิต
- แบบบายศรีกนกรัตน์เทวี
รีวิวโดยผู้เขียน : งานประดิษฐ์จากใบตอง บายศรีวิจิตร
การทำบายศรีนั้นเริ่มมาตั้งแต่เมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากในสมัยนี้มีการกล่าวถึงบายศรีในวรรณกรรมมหาชาติคำหลวง กัณฑ์มหาราช และที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ บายศรีน่าจะเป็นคติความเชื่อจากพราหมณ์ เนื่องจากบายศรีมีวัสดุหลักคือใบตอง ซึ่งพราหมณ์ถือว่าใบตองเป็นวัสดุที่มีความสะอาด บริสุทธิ์ ไม่มีมลทินเหมือนภาชนะเช่นถ้วยชาม พราหมณ์จึงนิยมใช้ใบตองเป็นภาชนะในการประดับตกแต่งใส่อาหารให้สวยงาม
การประดิษฐ์บายศรีในหนังสือ "งานประดิษฐ์จากใบตอง บายศรีวิจิตร" ได้สร้างรูปแบบของการทำบายศรีด้วยขั้นตอนง่ายๆ บรรจุภายในเล่มนี้ 5 แบบ โดยมีรูปภาพประกอบพร้อมคำอธิบายให้คุณผู้อ่านสามารถปฏิบัติได้อย่างง่าย และหวังใจว่างานประดิษฐ์จากใบตอง บายศรีวิจิตรนี้จะคงอยู่เป็นวัฒนธรรมต่อไปตราบนานเท่านาน
พจน์นรินทร์ แสงอิ่ม
รีวิวโดยสำนักพิมพ์ : งานประดิษฐ์จากใบตอง บายศรีวิจิตร
บายศรี เกิดจากอิทธิพลทางความเชื่อ สืบทอดเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของคนไทยและคนลาวที่มีความเชื่อในสิ่งที่เป็นนามธรรมที่เรียกว่า "ขวัญ" ขวัญซึ่งทำหน้าที่ปกปักรักษาชีวิตของมนุษย์ไปทุกหนทุกแห่ง การทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเป็นการเชิญให้ขวัญที่อาจหนีหายไปกลับเข้ามาอยู่กับเนื้อกับตัวคนคนนั้น ให้มีสติ มีกำลังใจ มีพลังเข้มแข็ง การเรียกบายศรีมักเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละภาคของประเทศไทย เช่น ภาคเหนือจะเรียกว่า ใบสี ใบสรี ใบสีนมแนม
บายศรี เกิดมาจากคำ 2 คำรวมกัน "บาย" หมายถึงในภาษาเขมร คำว่า "ศรี" หมายถึงมิ่งขวัญสิริมงคล เป็นภาษาสันสกฤต เมื่อรวมเข้าด้วยกัน "บายศรี" จะหมายถึง ข้าวขวัญ หรือ ข้าวที่มีสิริมงคง ดังนั้น บายศรีจะมีใบตอง และส่วนประกอบอีกชนิดหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ "ข้าวสุก"
ส่วนประกอบหลักของการประดิษฐ์บายศรี คือ ใบตองเพราะถือว่าใบตองเป็นวัสดุที่สะอาด บริสุทธิ์ ไม่มีมลทิน ซึ่งเมื่อประกอบขึ้นเป็นบายศรีให้มีรูปลักษณ์เหมือนกับจำลองเขาพระสุเมรุอันเป็นที่สถิตของพระอิศวรตลอดจนเครื่องสังเวยประกอบบูชาเช่น ไข่ มะพร้าว แตงกวา ดอกไม้หอม ทำเป็นชั้นๆ มีขนาดเล็กไปตามลำดับ ในหนังสือเล่มนี้ได้มีวิธีการทำบายศรีให้ฝึกฝนหลายแบบด้วยกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านตามสมควร
บรรณาธิการ