รายละเอียด : บูรพาภิวัตน์ : ภูมิ-รัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกใหม่
บูรพาภิวัตน์ : ภูมิ-รัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกใหม่
หนังสือ บูรพาภิวัตน์ เล่มนี้ เป็นฉบับตีพิมพ์ ครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2558) ซึ่งได้ปรับปรุงรูปโฉม การจัดบท และการจัดวางแผนที่ ตารางเท่านั้น ในส่วนเนื้อหาไม่ได้ปรับปรุงอะไร เพราะ 3-4 ปี มานี้ กระแสของโลกหาได้เปลี่ยนแปลงไปจากที่หนังสือเสนอไปเมื่อปี 2554-2555 แต่อย่างใด อันที่จริงข้อมูลและตัวเลขต่างๆ ล่าสุด ยิ่งทําให้เห็นชัดมากขึ้นว่า โลกที่เราอยู่นี้มิใช่โลกใบเดิม ที่ฝรั่งหรือตะวันตกครองโลก กําหนดโลก สั่งสอนโลก แต่ฝ่ายเดียว อย่างที่เคยเป็นมาร่วม 2-3 ร้อยปีก่อนหน้านี้
ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านได้ตระหนักว่า ซีกตะวันออกของโลก หรือจะเรียกว่าด้านบูรพาของโลกก็ได้ กําลังเติบใหญ่ รวดเร็ว เจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การทหาร และการต่างประเทศ ช่องว่างทางอํานาจระหว่างดินแดนตะวันตกกับตะวันออกของโลก กําลังแคบลงอย่างรวดเร็ว หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ชี้แต่เพียงว่าจีนเป็นมหาอํานาจอันดับ 2 ของโลก และกําลังท้าทาย หรือร่วมกับตะวันตกนำโลกอยู่อย่างไรเท่านั้น หากจะบอกด้วยว่าอินเดียก็ดี บรรดาประเทศรอบอ่าวเปอร์เซียก็ดี รวมทั้ง อิหร่านก็ดี กําลังก้าวหน้าขึ้นในแทบทุกด้าน เป็นขั้วการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกทั้งสิ้น และยังมีตุรกีด้วย ที่กําลังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นประเทศในทวีปยุโรป ที่เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงในทางบวกมากที่สุดในทวีปนั้น อาเซียนซึ่งเราเป็นสมาชิกอยู่ ก็เป็นส่วนหนึ่งของบูรพาภิวัตน์ ส่วนเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น แม้จะใกล้ชิดทางการทหารและการเมืองกับสหรัฐอเมริกามาก แต่ในทางเศรษฐกิจ ก็ผูกพัน พึ่งพา เศรษฐกิจของจีนเป็นอย่างยิ่ง จีนกับญี่ปุ่น จีนกับไต้หวัน จีนกับอาเซียน อาจมีข้อขัดแย้งทางการเมืองและพรมแดนทางทะเล แต่แน่นอนกว่านั้นคือ ประเทศเหล่านั้นจะเชื่อมสัมพันธ์ และใกล้ชิดกับจีน ทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะขณะนี้จีนคือหัวรถจักรใหญ่ที่นําพาเศรษฐกิจโลกไปเสียแล้ว
สิ่งที่ผู้เขียนปรารถนาอย่างที่สุดคือ หนังสือเล่มนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้อง และสนับสนุนให้ประเทศไทย ได้ตระหนักถึงการปรับแนวยุทธศาสตร์ และแนวนโยบายต่างประเทศ ตลอดถึงแนวนโยบายทางเศรษฐกิจ และสังคมเสียใหม่ ให้สอดรับกับกระแสบูรพาภิวัตน์
เอนก เหล่าธรรมทัศน์
สารบัญ : บูรพาภิวัตน์ : ภูมิ-รัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกใหม่
- ตอนที่หนึ่ง : ตะวันตกถดถอย
- ตอนที่สอง : ตะวันออกผงาด
- ตอนที่สาม : ตะวันออกที่สร้างสรรค์
- ตอนที่สี่ : การทูตและการทหารใหม่ในยุคบูรพาภิวัตน์
- ตอนที่ห้า : โครงสร้างพื้นฐานและพลังงาน
- ตอนที่หก : การกลับมาของมหาสมุทรอินเดียและเส้นทางสายไหม
- ตอนที่เจ็ด : การพัฒนาของตะวันออกจะไม่ซ้ำกับของตะวันตก
เนื้อหาปกหลัง : บูรพาภิวัตน์ : ภูมิ-รัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกใหม่
“ผู้เกี่ยวข้องทั้งในภาคราชการ ภาคเอกชน นักการเมือง และแวดวงวิชาการ ควรนําหนังสือเล่มนี้มาศึกษาเพื่อวิเคราะห์และกําหนดกรอบยุทธศาสตร์ของไทย ในฐานะที่เป็นสมาชิกในกลุ่มอาเซียนที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมสองฟากฝั่งมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก” - พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ
“ถึงเวลาที่จะสลัดปมด้อยแห่งชาติที่ถูกมายาคติตะวันตกครอบงําอยู่ หันมาทบทวนศักดิ์ศรีและศักยภาพในรากเหง้าของเราเอง ตื่นรู้ เกิดจิตสํานึกใหม่ สร้างความเข้มแข็งทางสติปัญญา ยกระดับคนไทยและประเทศไทย ไปสู่ภพภูมิใหม่ที่สูงขึ้น การจมอยู่ในภพภูมิที่ต่ำเตี้ยทําให้เราไม่มีพลังที่จะออกจากหลุมดําแห่งวิกฤติการณ์” - ศ.นพ.ประเวศ วะสี
“ผมอยากจะบอกว่า นี่เป็นงานวิชาการชิ้นเอก ที่จะช่วยปรับปรุงมุมมองของเราต่อโลกสมัยใหม่ได้อย่างลึกซึ้ง (...) ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ จะเป็นหลักหมายทางความคิด ทฤษฎีที่สําคัญอีกชิ้นหนึ่งของวงวิชาการและของสังคมไทย และจะเป็นหนังสือที่ถูกพูดถึง อ้างอิงถึง ไม่แพ้หนังสือ “สองนคราประชาธิปไตย” ที่เคยสร้างปรากฏการณ์นี้เมื่อ 2 ศตวรรษที่แล้ว” - ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์