รายละเอียด : คริสตศิลป์กระจกสีโบสถ์คริสต์ในไทย
คริสตศิลป์กระจกสีโบสถ์คริสต์ในไทย
การประดับตกแต่งที่โดดเด่นอย่างมากในโบสถ์ของศาสนาคริสต์คือ “กระจกสี” (Stained glass) ซึ่งเป็นงานฝีมือที่สืบทอดต่อกันมานับพันปี จนกลายสิ่งที่อยู่คู่กับโบสถ์คริสต์ทั่วโลก รวมถึงโบสถ์คริสต์ในไทยด้วย
กระจกสี คือ แผ่นกระจกที่ได้รับการย้อมสี เมื่อต้องกับแสง จะทำให้เห็นภาพสว่างไสวสีสันสวยงาม ซึ่งมักสร้างให้มีลวดลายต่างๆ หรือออกแบบให้เป็นภาพบุคคล นักบุญ และภาพเล่าเรื่องคริสต์ประวัติ ภาพเหล่านี้ล้วนมีความหมายลึกซึ้ง และแฝงไปด้วยระบบสัญลักษณ์จำนวนมาก
หนังสือเล่มนี้จะพาผู้อ่านท่องไปในโลกของกระจกสี และเรียนรู้ความหมายของกระจกสีเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งติดตั้งอยู่ในโบสถ์คริสต์สำคัญของไทยจำนวน 7 แห่ง พร้อมศรชี้นำชมที่เข้าใจง่ายโบสถ์คริสต์ทั้ง 7 แห่ง ประกอบด้วย วัดคอนเซ็ญชัญ กรุงเทพฯ, วัดนักบุญฟรังซิล เซเวียร์ สามเสน กรุงเทพฯ, วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา, วัดพระคริสตหฤทัย ราชบุรี, อาสนวิหารแม่พระบังเกิด สมุทรสงคราม, อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล จันทบุรี, วัดอัครเทวดามีคาแอล ดอนกระเบื้อง ราชบุรี
สารบัญ : คริสตศิลป์กระจกสีโบสถ์คริสต์ในไทย
- ประวัติศาสตร์กระจกสี
- คริสต์ประวัติโดยสังเขป
- กระจกสีในประเทศไทย
- วัดคอนเซ็ปชัญ
- วัดนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ สามเสน
- วัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา
- วัดพระคริสตหฤทัย
- อาสนวิหารแม่พระบังเกิด
- อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล
- วัดอัครเทวดามีคาแอล ดอนกระเบื้อง
รีวิวโดยผู้เขียน : คริสตศิลป์กระจกสีโบสถ์คริสต์ในไทย
ศาสนศิลป์ที่โดดเด่นประเภทหนึ่งที่ยังขาดสื่อหรือคู่มือในการชมก็คือ กระจกสีในโบสถ์คริสต์ ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมที่ค่อนข้างเข้าใจยาก เพราะแฝงระบบสัญลักษณ์ทางประติมานวิทยาไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งเรื่องคริสต์ประวัติ นักบุญ แม่พระ ซึ่งทั้งหมดมันนำเอาเหตุการณ์ในพระคัมภีร์มาสรุปย่อไว้ในบานกระจกสีที่มีพื้นที่ไม่มาก ดังนั้นการจะเข้าใจศาสนศิลป์เหล่านี้ จึงต้องเข้าใจระบบสัญลักษณ์ในวัฒนธรรมคริสเตียนด้วย
ผู้เขียนตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อให้เป็นคู่มือแนะนำเบื้องต้น สำหรับแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับคริสตศิลป์โบราณในประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดล้วนทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปะ และเพื่อเป็นคู่มือสำหรับการเยี่ยมชมโบสถ์คริสต์ต่างๆ ให้กับพี่น้องต่างความเชื่อ อันจะช่วยเสริมสร้างศาสนสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาต่างๆ ท่ามกลางสังคมไทยที่กำลังเปิดกว้างมากขึ้น และก้าวออกไปเรียนรู้ความหลากหลายของความเชื่อและวัฒนธรรมใหม่ๆ
ปติสร เพ็ญสุต