รายละเอียด : จักรพรรดิราช คติอำนาจเบื้องหลังชนชั้นนำไทย
จักรพรรดิราช คติอำนาจเบื้องหลังชนชั้นนำไทย
ความเชื่อเรื่อง “พระเจ้าจักรพรรดิราช” เป็นคติความเชื่อทางศาสนา ซึ่งได้ถูกนํามาปรับใช้กับรูปแบบการเมืองการปกครองและความสัมพันธ์ในหมู่ “รัฐจารีต” เป็นจุดมุ่งหมายและธรรมเนียมปฏิบัติจนกลายเป็น “ประเพณีกษัตริย์” ก่อให้เกิดบริบททางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากมาย แม้ปัจจุบันคติความเชื่อเรื่องจักรพรรดิราชจะเสื่อมคลายลงตามกาลเวลา หากแต่ยังหลงเหลือร่องรอยแห่งแนวคิดสะท้อนออกมาผ่านวัฒนธรรมอันหลากหลาย ทั้งโบราณราชประเพณี สถาปัตยกรรม อีกทั้งหลักในการปกครอง อันได้แก่ ทศพิธราชธรรม ราชสังคหะ ๔ และจักรวรรดิวัตร ๑๒ ซึ่งเป็น "หน้าที่" และพระราชจริยานุวัตรอันงดงามที่ได้รับการปลูกฝังสืบต่อกันมาของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ อันยังประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎร์ให้มีความผาสุกร่มเย็นภายใต้พระบรมโพธิสมภาร
หนังสือ “จักรพรรดิราช คติอำนาจเบื้องหลังชนชั้นนำไทย” บอกเล่าเรื่องราวของคติจักรพรรดิราชในแง่มุมต่างๆ ทั้งในความเชื่อทางศาสนา การนํามาปรับใช้ของชนชั้นนําไทยและชนชั้นนําในหมู่รัฐจารีตในแต่ละยุคสมัย ตลอดถึงความเปลี่ยนแปลงของคติจักรพรรดิราช จนถึงจุดเปลี่ยนที่สําคัญที่ส่งผลให้คติความเชื่อดังกล่าวคงเหลือไว้เพียงแนวคิดเบื้องหลังผ่านพระราชพิธีสําคัญในปัจจุบัน
เอนก มากอนันต์
คำนำ : จักรพรรดิราช คติอำนาจเบื้องหลังชนชั้นนำไทย
หนังสือ จักรพรรดิราช คติอํานาจเบื้องหลังชนชั้นนำไทย ของเอนก มากอนันต์ เป็นงานค้นคว้าที่บุกเบิกและขยายมุมมองเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิราชที่ก้าวไกลไปกว่างานค้นคว้าที่มีมาก่อน ในด้านหนึ่งผู้แต่งร้อยรัดคติความเชื่อว่าด้วยที่มาของพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ไว้ได้อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นคติเทวราชา ธรรมราชา โพธิสัตว์ และจักรพรรดิราช สะท้อนให้เห็นว่าการแสดงตนเป็นราชาเหนือราชาทั้งหลายทําได้หลายรูปแบบ ที่สําคัญคือผู้นําไทยไม่ได้เห็นว่าการแสดงพระองค์เช่นนั้นเป็นการย้อนแย้ง ถึงแม้จะได้ทรงใช้คติพราหมณ์และพุทธควบคู่กันไป ข้อเด่นอีกประการหนึ่งของหนังสือ คือการยึดโยงคติจักรพรรดิราชในอุดมคติเข้ากับการสําแดงพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หรือสมเด็จพระนารายณ์ หนังสือจะน่าสนใจมากขึ้นหากผู้เขียนจะเทียบเคียงกษัตริย์อยุธยายุคหลังกับกษัตริย์อยุธยายุคต้น เช่น พระบรมาราชาธิราชที่ ๒ และสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ผ่านงานวรรณกรรมยวนพ่าย
ข้อเด่นอีกประการหนึ่งคือ ความกล้าหาญของผู้เขียนที่จะเปิดมิติมุมมองใหม่ว่าด้วยความหลากหลายและความเปลี่ยนแปลงของคติ เมื่อผู้นําสยามต้องเผชิญกับการขยายอิทธิพลของมหาอํานาจตะวันตก ในด้านการค้นคว้าผู้เขียนทําได้อย่างลุ่มลึก ครอบคลุมข้อมูลหลักฐานอย่างกว้างขวาง ทําให้หนังสือไม่เพียงมีความสมบูรณ์ แต่ยังเป็นแหล่งอ้างอิงที่ดีของผู้ที่ประสงค์จะศึกษาเรื่องความคิด และความชอบธรรมทางอํานาจของพระมหากษัตริย์ไทยยุคโบราณ หนังสือเล่มนี้จึงมีความคุณค่าเกินราคา เหมาะจะซื้อหาไว้อ่านและเก็บรักษาเป็นหนังสือสะสมอย่างยิ่ง
สุเนตร ชุตินธรานนท์
สารบัญ : จักรพรรดิราช คติอำนาจเบื้องหลังชนชั้นนำไทย
- ๑ แนวคิดเกี่ยวกับกษัตริย์ หรือผู้นำรัฐไทยสมัยจารีต
- ๒ แนวคิดเรื่องคติจักรพรรดิราชของชนชั้นนำไทยสมัยอยุธยา (พ.ศ.๒๑๗๒-๒๓๑๐)
- ๓ ความรู้เรื่องโลกและจักรวาล และการนิยามตัวตนผ่านคติจักรพรรดิราชของชนชั้นนำไทย
- ๔ แนวคิดเรื่องคติจักรพรรดิราชในสมัยธนบุรีถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.๒๓๑๐-๒๓๖๗)
- ๕ ผลกระทบของชาติตะวันตกต่อแนวคิดเรื่องคติจักรพรรดิราชในชนชั้นนำไทย
เนื้อหาปกหลัง : จักรพรรดิราช คติอำนาจเบื้องหลังชนชั้นนำไทย
คติความเชื่อเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิราชเป็นคติที่ยึดโยงกับโครงสร้างรัฐแบบจารีตที่เครือข่ายอำนาจเชื่อมโยงกับกษัตริย์ผู้ทรงบารมี คติความเชื่อนี้ได้ล่มสลายไปเหลือเพียงความหมายเชิงสัญลักษณ์และประเพณี เมื่ออิทธิพลและระเบียบวิธีคิดของโลกตะวันตก ได้แผ่ผ่านเข้ามาในภูมิภาค ปริมณฑลอำนาจรัฐแบบตะวันตก วัดกันด้วยเส้นแบ่งพรมแดนที่ชัดเจน มิได้ยืดหยุ่นตามอำนาจบารมีของผู้ปกครอง ในกรณีสยามประเทศเมื่อตกถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คุณค่าความสำคัญของคติจักรพรรดิราชได้เสื่อมสลายลงอย่างน้อยก็ในสายตาของผู้ปกครอง
(จาก คำนำเสนอ ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์)