รายละเอียด : อยู่กับบาดแผล
อยู่กับบาดแผล
หนังสือ อยู่กับบาดแผล ของ ผศ. ดร. บุญเลิศ วิเศษปรีชา มาจากผลงานวิจัยที่จะแสดงถึงอีกแง่มุมหนึ่งของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงปี 2553-2557 เสียงของผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมาจากสองฟากฝั่งการเมืองทั้งเหลือง-แดง ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงปี 2553-2557 ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองมีสถานะคลุมเครือ แตกต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่ได้รับการเรียกขานว่า “วีรชน”
นอกจากนี้ อยู่กับบาดแผล ได้นําเสนอมุมมองทางมานุษยวิทยาในการรับฟังเสียงของผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง นั่นคือ ความทุกข์ทนทางสังคม (social suffering) แนวคิดดังกล่าวสนใจความรุนแรงด้านต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ร่างกาย จิตใจ และครอบครัว ตลอดจนผลกระทบดังกล่าวส่งผลต่อการให้คุณค่าและความหมายแก่ตนเอง ซึ่งไม่เหมาเอาว่าผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองจะเป็น "ผู้ทุกข์ทน" เสมอไป ดังจะเห็นได้จากผู้ได้รับผลกระทบจํานวนหนึ่ง เห็นว่าสิ่งที่ตนได้ทําไปนั้นเป็นความถูกต้องและรู้สึกภาคภูมิใจ
ในสังคมปัจจุบันมีความแตกต่างหลากหลายทําให้มีโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้ง หากพิจารณาคําว่าความหลากหลายในภาษาอังกฤษคือ diversity แล้ว รากศัพท์ภาษาละตินของคํานี้น่าสนใจไม่น้อย นั่นคือคําว่า diversity ซึ่งแปลว่าบ่ายหน้าไปคนละทาง แน่นอนว่าเราไม่อาจจะบังคับให้คนหันหน้าไปในทิศทางเดียวกันได้ แต่เป็นไปได้ที่จะหันมาคุยกัน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทําความเข้าใจ การรับฟังเรื่องเล่าที่สะท้อนความทุกข์ทนของคนอื่นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างความเข้าใจระหว่างกัน
หนังสือ อยู่กับบาดแผล นําเสนอเรื่องเล่าแห่งความทุกข์ทนในรูปแบบงานวิชาการแต่ก็ไม่ได้เต็มไปด้วยศัพท์แสงที่เข้าใจกันในหมู่นักวิชาการด้วยกันเองเท่านั้น แต่ยังเหมาะกับผู้อ่านทั่วไปที่ใส่ใจต่อเสียงแห่งความทุกข์ทนของคนอื่น ไม่ว่าจะสมาทานตนอยู่ฟากฝั่งใดของการเมืองเรื่องสีเสื้อก็ตาม เพื่อที่จะนําพาสังคมไทยออกจากหล่มหลุมปัญหาความขัดแย้งแล้วก้าวเดินไปข้างหน้า โดยไม่ทิ้งผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองไม่ว่าจะฝ่ายใดไว้ข้างหลัง
สารบัญ : อยู่กับบาดแผล
- 1. บทนำ : เหยื่อสามัญชนที่ถูกละเลย
- 2. ผู้อยู่แนวหน้าของการชุมนุม
- 3. ทำไมจึงอยู่ ณ จุดเสี่ยง
- 4. อยู่กับบาดแผลด้วยความรู้สึกที่แตกต่างกัน
- 5. เสียงจาก "ผู้ถูกกระทำ" ในเหตุการณ์พฤษภา 53 ที่อุบลราชธานี
- 6. บทวิเคราะห์ความต่างในความเหมือน ความเหมือนในความต่าง
- 7. ทบทวนบทเรียน มองสู่อนาคต
เนื้อหาปกหลัง : อยู่กับบาดแผล
เราไม่ควรจะมุ่งมองไปข้างหน้าจนเกิดอหังการกับการสร้างอนาคตอย่างเดียว โดยทิ้งเหยื่อความรุนแรงทางการเมืองไว้ข้างหลัง อย่างเช่นกรณีอุ้มหายหรืออุ้มฆ่าที่หลักฐานถูกทําลาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเจ็บแค้นและชิงชังส่งผ่านไปยังคนรุ่นต่อไป หนังสือ อยู่กับบาดแผล ได้เปิดเสียงของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งน่าจะช่วยให้เราสํานึกในหน้าที่ที่เราพึงปฏิบัติต่อกัน
ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว
หนังสือ อยู่กับบาดแผล ได้ทําให้เราได้ยินเสียงจากหญ้าแพรกที่ถูกช้างสารเหยียบย่ำในนามของการต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เราอาจจะได้ยินเสียงน้ำตาที่หลั่งรินในหัวใจของเขา เราอาจจะเห็นคราบน้ำตาและรอยเลือดเกรอะกรังอยู่บนใบหน้าและทั่วสรรพางค์กาย โปรดสดับฟังเสียงของพวกเขาพร้อมกับรับฟังเสียงจากหัวใจของท่านเพื่อที่เราทั้งหมดจะช่วยกันหาทางผ่อนคลายความทุกข์ระทมที่มาจากสังคมเราไปบ้าง เพราะเราทั้งหมดล้วนเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกัน
ศาสตราจารย์ ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์