รายละเอียด : สามัญสำนึก (Common Sense)
"“สามัญสำนึก (1776) โดย โธมัส เพน จุลสารการเมืองที่ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกา นำเสนอข้อถกเถียงที่กระแทกกลางใจชาวอาณานิคม อันนำไปสู่การตัดสินใจประกาศเอกราชจากจักรภพอังกฤษ หัวใจคือการวิพากษ์ระบอบกษัตริย์ที่สร้างระบบการปกครองจากการสืบมรดกทางครอบครัว ในขณะเดียวกันก็เสนอภาพที่เหนือกว่าของระบอบมหาชนรัฐที่มาจากประชาชน แต่ที่สำคัญยิ่งคือจุดหมายของการปกครองและรัฐบาล ว่าต้องเป็นการปกครองเพื่อความดีงามของส่วนรวม ไม่ใช่ของอภิสิทธิ์ชนเท่านั้น”
— ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
“โอ้! ผองท่านผู้รักมนุษยชาติ ผองท่านผู้กล้าคัดค้านทั้งระบอบเผด็จการและผู้ปกครองทรราช จงก้าวออกมาเถิด! ทุกหย่อมหญ้าบนโลกใบเก่าล้วนถูกครอบงำด้วยการกดขี่ เสรีภาพถูกไล่ล่าไปทั่วโลก”
/
อิทธิพลและความสำคัญของ สามัญสำนึก เป็นที่ประจักษ์ชัด จุลสารเล่มนี้ขายได้นับแสนเล่มในระยะเวลา 3 เดือนหลังตีพิมพ์ และห้าแสนเล่มในปีแห่งการปฏิวัติอเมริกัน ทั้งที่ประชากรในอาณานิคมยุคนั้นมีเพียง 2-3 ล้านคน
ถึงฤดูใบไม้ผลิปี 1776 สามัญสำนึก ได้สลายความรู้สึกจงรักภักดีต่อกษัตริย์จอร์จที่ 3 แห่งอังกฤษที่ยังคาราคาซังอยู่ในหมู่ชาวอาณานิคมลงไปโดยสิ้นเชิง นั่นคือการเอาอุปสรรคทางจิตวิทยาอันสุดท้ายที่ขวางกั้นการเป็นเอกราชออกไป
ดังที่ทราบกันดี วันที่ 4 กรกฎาคม 1776 ขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของคนอเมริกันก็ประกาศเอกราช ตัดความสัมพันธ์แบบอาณานิคมและการเป็นข้าราชบริพารของกษัตริย์อังกฤษลงไป จากนั้นก็เข้าสู่การทำสงครามเอกราชกับกองทัพอังกฤษอย่างเต็มตัว กระทั่งได้รับเอกราชในปี 1783
สามัญสำนึก จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นจุลสารที่มีอิทธิพลสูงยิ่งต่อการปฏิวัติอเมริกา
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
“หากปราศจากปากกาของผู้เขียน สามัญสำนึก
ดาบของ (จอร์จ) วอชิงตันก็คงกวัดแกว่งอย่างสูญเปล่า”
— จอห์น อดัมส์ หนึ่งในบิดาผู้สถาปนาสหรัฐอเมริกา
/
สามัญสำนึก ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแห่งเหตุผล ป่าวก้องรองรับความชอบธรรมในการต่อสู้
โธมัส เพน เป็นนักเขียน นักปรัชญา นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์สมัครเล่น เสรีชน นักประชาธิปไตย นักปฏิวัติระดับสากล ผู้ถ่ายทอดแนวคิดแห่งยุคแสงสว่างสู่มวลชน ผู้มีอิทธิพลต่อการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา ผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติฝรั่งเศส และผู้บุกเบิกกลุ่มคนไร้ศาสนา
เพนตระหนักรู้ว่าศรัทธาและความเชื่อบางอย่างที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม ต้องใช้เวลายาวนานบนหนทางยาวไกล ก่อนที่แสงสว่างแห่งเหตุผลจะทอดทอลงมาชะล้างให้มันเจือจางลง
แต่ที่สำคัญ คือในที่สุดแล้ว เหตุผลจะไม่เนรคุณต่อกาลเวลา.
ปราบดา หยุ่น"