รายละเอียด : The Dawn of Everything รุ่งอรุณแห่งมนุษยชาติ
หนังสือที่เปลี่ยนโลกได้ทุกเล่มเริ่มจากเปลี่ยน ‘ความคิด’ ผู้คน
เมื่อเปลี่ยนความคิดได้ ‘ใจ’ จึงเปลี่ยน และเมื่อใจเปลี่ยนเท่านั้นโลกจึงเปลี่ยน
ไม่พึ่งพาคําคม ไม่ใช่แค่แนวคิดลึกลํ้า ไม่ใช่แค่ทฤษฎีแข็งแกร่ง ไม่ใช่แค่บทวิเคราะห์ที่คุณไม่เคยฟังมาก่อน
แต่คือการ ‘สังเคราะห์’ ทั้งหมดนั่นเข้าด้วยกัน และสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ให้กับอดีตทั้งมวลที่มนุษยชาติก้าวผ่านมา
มันจะเป็นอย่างไรถ้าคํากล่าวอ้างที่ผู้เขียนท้าทายไว้ตั้งแต่แรกเป็นความจริง นั่นคือ ประวัติศาสตร์มนุษย์เกือบทั้งหมดที่เรารู้มานั้น ส่วนน้อยคลาดเคลื่อน และส่วนมากผิดพลาดอย่างโจ่งแจ้ง
ผู้เขียนค่อยๆ คลี่คลายข้ออภิปรายที่ถอนรากถอนโคนความเข้าใจของเรา แล้วเราก็พบว่าเหตุผลที่ทําให้เราผู้ก้าวหน้าในเทคโนโลยีกลับไปไม่ถึงไหน หรืออาจถึงกับเสื่อมทรามลง นั่นเพราะเราติดแหง็กอยู่ในชุดประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ทําให้เราเชื่อว่า อะไรก็ตามที่สังคมเป็นอยู่ทุกวันนี้คือสิ่งที่ ‘ไม่อาจหลีกเลี่ยง’ แต่ความเชื่อเช่นนั้นไม่มีหลักฐานอะไรรองรับเลย เราติดหล่มอยู่กับทฤษฎีวิวัฒนาการทางสังคมที่เอาเข้าจริงก็ปรัมปราไม่ต่างจากในพระคัมภีร์
ปัญหาที่ร้ายกาจที่สุดคือ มันทําให้เราไม่อาจจินตนาการถึงความเป็นไปได้อื่นอีกแล้ว นอกจากว่าตราบใดที่มนุษย์มาอยู่รวมกันมากๆ ย่อมต้องมีคนพาล ย่อมต้องมีหัวหน้าเผ่า ย่อมต้องมีเมือง ย่อมต้องมีรัฐ ย่อมต้องมีอํานาจรัฏฐาธิปัตย์ ย่อมต้องมีคอร์รัปชัน ย่อมต้องมีความไม่เท่าเทียม ฯลฯ
แล้วเราก็ตั้งคําถามอย่างปวดร้าวว่า ความเสมอภาคอยู่หนใด ก่อนจะพูดคล้ายกันว่าการปกครองในอุดมคติเป็นเรื่องไม่อาจเอื้อมได้ในทุกกรณี เรามาไกลเกินไปแล้ว ตามด้วยรอยยิ้มแห้งๆ แล้วสรุปว่าประชาธิปไตยประมาณนี้…
ในประวัติศาสตร์อันยาวนานเผ่าพันธุ์ของเราทดลองจัดตั้งสังคมมาแล้วทุกรูปแบบ บางยุคสมัยมีกษัตริย์เฉพาะฤดูร้อน และสลายราชสํานักมาสู่การปกครองที่เสมอภาคกันทุกฤดูหนาว บางแห่งมีระบบราชการ แต่ไม่มีเจ้าเหนือหัวปกครอง บางแห่งมีผู้ปกครอง แต่ไร้ระบบราชการ สังคมเกษตรไม่นําไปสู่การสะสมผลผลิตเสมอไป สังคมคนเก็บของป่าก็อาจปักปันเขตแดนและกลายเป็นเมืองที่กดขี่ และสังคมเมืองหลายแห่งก็ปกครองตนเองได้อย่างเสมอภาค ฯลฯ
เกรเบอร์และเวนโกรว์ สองเดวิดผู้ร่วมกันเขียนหนังสือเล่มนี้คือนักมานุษยวิทยาและนักโบราณคดีตัวท็อปของวงการ นอกจากรางวัลทางวิชาการเพียบแล้ว เป็นที่รู้กันว่าพวกเขาคือปัญญาชนอนาธิปไตย ในความหมายที่ไม่เชื่อว่าอํานาจปกครองจําเป็นในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์
พวกเขาใช้เวลาสิบปีเขียนอธิบายเหตุผลไว้ในหนังสือเล่มนี้ หลังปิดต้นฉบับอันยาวนานเสร็จสิ้น สามเดือนต่อมาเกรเบอร์ก็จากโลกนี้ไป ทิ้งท้ายไว้ทํานองที่ว่า “ผมรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงคงไม่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ แต่ผมเป็นคนมีความหวัง ผมหวังว่ามันจะไม่นานนักหรอก” อย่างน้อยเขาก็ทําในส่วนของเขาสมบูรณ์แล้ว ในส่วนของเราคือลองเปิดหัวใจ
เหตุผลจริงๆ ที่เราติดแหง็กอยู่ตรงนี้ไม่ใช่เพราะเราดักดาน หรือไม่เปิดใจ หรือไม่มีความรู้ สิ่งสําคัญที่สุดที่เราขาดแคลนคือ ‘จินตนาการ’ และนั่นคือสิ่งที่หนังสือวิชาการสุดเพี้ยนเล่มนี้มอบให้คุณได้อย่างแน่นอน