รายละเอียด : สงครามเสน่หา
สงครามเสน่หา
อเล็กซิส มาร์ควิสหนุ่มแห่งเมอร์ลินคอร์ทผู้เป็นที่หมายปองของสาว ๆ ในกรุงลอนดอนต้องการได้ทรัพย์สมบัติของตระกูลเมอร์ลีนที่บิดาของตนได้ขายไปให้กับเซอร์โจชัว เฮดลีย์กลับคืนมา อเล็กซิสจึงยอมแต่งงานกับลูเครเชีย บุตรสาวของเซอร์โจชัว ทั้ง ๆ ที่ตนมีคุณหญิงเฮสเตอร์แสตนดิช เป็นคู่รักอยู่แล้ว
ลูเครเชียได้ยินกิตติศัพท์ของว่าที่เจ้าบ่าวของเธอว่าไม่ชอบเด็กสาวซื่อๆ ไม่ประสีประสา เธอจึงไปเรียนการแสดงกับผู้กำกับคนหนึ่ง เมื่อได้พบกันครั้งแรก อเล็กซิสจึงประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งที่พบว่าว่าที่เจ้าสาวของเขาเป็นสาวสังคมทรงเสน่ห์ แทนที่จะเป็นสาวน้อย หัวอ่อน ว่านอนสอนง่ายดังที่คาดไว้
ภายหลังแต่งงาน อเล็กซิสได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือชาวอังกฤษที่ติดอยู่ในฝรั่งเศส โดยชายหนุ่มตั้งใจที่จะปลอมตัวเข้าไปในระหว่างที่มาฮันนีมูนกับลูเครเชียในเรือ เมื่อขึ้นฝั่งที่ประเทศฝรั่งเศส เขาก็ต้องประหลาดใจที่พบว่าลูเครเชียแอบตามเข้ามาในปฏิบัติการครั้งนี้ด้วย
ในระหว่างหลบหนีทหารฝรั่งเศสด้วยกัน อเล็กซิสพบว่าแท้จริงแล้ว บุคลิกสาวสังคมทรงเสน่ห์เป็นเพียงละครที่ลูเครเชียแสร้งทำเท่านั้น แต่ชายหนุ่มกลับประทับใจความบริสุทธิ์ จริงใจต่างหากของหญิงสาว
เมื่อการผจญภัยและการช่วยเหลือตัวประกันส่วนหนึ่งสำเร็จลง ลูเครเชียได้เดินทางกลับประเทศอังกฤษพร้อมกับเจ้าบ่าวที่ไม่ขี้เบื่ออีกต่อไป
เนื้อหาปกหลัง : สงครามเสน่หา
สงครามนั้นมีความเกรียงไกรอยู่ในตัวของมันเองก็จริงหรอก แต่ไม่ว่าสงครามจะบ่งแสนยานุภาพหรือเกียรติประวัติงดงามแค่ไหนก็ตาม มันจะจบลงแบบเดียวกันทั้งนั้น คือไม่ทิ้งอะไรไว้เลย นอกจากชีวิตที่สูญเปล่า และความล่มจมหายนะของบรรดาผู้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรกับเขาด้วย เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นสงครามของหัวใจ สงครามของความรักและความเสน่หาเท่านั้น
รีวิวโดยสำนักพิมพ์ : สงครามเสน่หา
หากเอ่ยถึงนาม Barbara Cartland นักอ่านนวนิยายต่างประเทศคงรู้จักเป็นอย่างดีในฐานะของ "ราชินีนิยายพาฝัน" ผู้เลื่องชื่อ เรื่องราวที่เธอจินตนาการผ่านตัวอักษรล้วนแต่บรรเจิดเพริศแพร้ว สุดแสนจะโรแมนติก สำนวนหรือก็ช่างอ่อนหวานรัญจวนใจ ชวนให้ผู้อ่านติดตามและหลงใหล และเมื่อเอ่ยถึงนามปากกา ว.วินิจฉัยกุล นักเขียนระดับแนวหน้าในแวดวงนวนิยายของไทย ผู้มีผลงานที่ได้รับความนิยมมากมาย ท่านผู้อ่านก็คงจะรู้จักดีเช่นกัน ดังนั้น เมื่อสำนักพิมพ์เพื่อนได้รับเกียรติให้จัดพิมพ์ "สงครามเสน่หา" งานแปลของ ว.วินิจฉัยกุล จากเรื่อง The Bored Bridegroom ของ Barbara Cartland อีกครั้ง จึงถือเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจอีกชิ้นหนึ่งที่ขอมอบแต่ท่านผู้อ่าน