ชาติ กอบจิตติ
วันเดือนปี เกิด : 25 มิ.ย 2497
ภูมิลำเนา : บ้านเกิด จ.สมุทรสาคร
ที่อยู่ปัจจุบัน : ตู้ ป.ณ. 20 ปทจ.ปากช่อง นครราชสีมา 30130
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปีพ.ศ. 2547
นักเขียน 2 รางวัลซีไรต์ และรางวัลช่อการะเกด
ประวัติ : ชาติ กอบจิตติ เกิดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2497 ที่บ้านริมคลองหมาหอน ตำบลบ้านบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นบุตรคนที่สอง ในจำนวนพี่น้องผู้หญิง 5 คน และผู้ชาย 4 คน รวมเก้าคน ชื่อเดิมคือสุชาติ แต่เขาเห็นว่าคนใช้ชื่อนี้กันมาก จึงเปลี่ยนมาเป็น "ชาติ" พ่อของเขาเป็นพ่อค้าขายเกลือเม็ด ส่วนแม่ขายของเล็กๆน้อยๆ ต่อมาพ่อก็ไปค้าทราย และขายของชำ
เขาเริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดใหญ่ บ้านปอ แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเอกชัยในจังหวัดเดียวกัน เพราะไปอยู่กับยายชั่วคราว เมื่อพ่อไปค้าทรายที่ราชบุรี เขามาเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 ที่โรงเรียนปทุมคงคาเมื่อ พ.ศ.2509 โดยอาศัยอยู่กับพระซึ่งเป็นเพื่อนของอาที่วัดตะพาน หรือวัดทัศนารุณ มักกะสัน พอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปี่สามแล้วก็เรียนต่อเพาะช่าง ในสาขาภาพพิมพ์
เนื่องจากเป็นคนชอบวาดรูป ชอบเขียนหนังสือ ฝันใฝ่ที่จะเป็นนักประพันธ์ เรื่องสั้นเรื่องแรก คือ เรื่อง "นักเรียนนักเลง" เขียนลงในหนังสืออนุสรณ์ปทุมคงคา 2512 ได้มีโอกาสเขียนบทละครแสดงที่เพาะช่างมากกว่าสิบเรื่องบางเรื่องได้แสดงเองด้วย ตอนที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 เคยสมัครไปทำงานเปิดบาร์อะโกโก้ ที่ถนนพัฒน์พงษ์ เพื่อหางานเรียน พ.ศ. 2515 ช่วงเรียนชั้นปีที่ 3 ศิริพงษ์ อยู่ชวนไปทำอาร์ตเวิร์คหนังสือ “เสนาสาร” ยุคดารา อยู่ระยะหนึ่งและได้เขียนวิจารณ์โทรทัศน์
เขาแต่งงานเมื่อ พ.ศ.2520 กับเพื่อนสาวที่เรียนจบเพาะช่างมาด้วยกัน ชื่อ รุจิรา เตชะศีลพิทักษ์ ซึ่งรับราชการอยู่กองโบราณคดี แผนกซ่อมจิตรกรรมฝาผนัง กรมศิลปากร แล้วลาออก ซึ่งต่อมาได้ช่วยกันทำกระเป๋าไปฝากขายตามห้าง ซึ่งมีรายได้ดี เคยได้รวมงานกับรุ่นน้องที่เพาะช่างทำสำนักพิมพ์ “สายธาร” พิมพ์หนังสือออกมาหลายเล่ม วันหนึ่งได้นำเรื่องสั้นชื่อว่า “ผู้แพ้” มาให้เรืองเดช อ่านซึ่งตอนนั้นเรืองเดชได้รวมงานกันอยู่ เรืองเดชได้อ่านแล้วเห็นว่าเรื่องนี้ดีเลยส่งไปให้สุชาติสวัสดิ์ศรีที่กำลังทำ “โลกหนังสือ” อยู่ในขณะนั้นพิจารณา ปรากฏว่าเรื่องสั้น ของชาติ กอบจิตติ ได้ลงพิมพ์ในโลกหนังสือฉบับเรื่องสั้นชุด “คลื่นหัวเดิ่ง” เมื่อพ.ศ.2522 และเป็นหนึ่งในสองเรื่องที่ได้รับรางวัล “ช่อการะเกด” ของสุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งถือกันว่าเป็นรางวัลที่ได้มาตรฐานมากที่สุดรางวัลหนึ่งและเรื่องเดี่ยวกันนี้ ยังได้รางวัลชมเชยจากการคัดเลือกเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี 2522 ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
ระหว่างพ.ศ. 2532 – 2535 ได้เดินทางไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ได้มีผลงานออกมาจากการเขียนเรื่องสั้นบันทึกชีวิตที่นั้นบางเรื่อง จนพ.ศ. 2536 ก็จัดพิมพ์นวนิยายเรื่อง “เวลา” โดยสำนักพิมพ์ “หอน” ของตัวเอง ปรากฏว่าได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2537 นับเป็นนักเขียนคนแรกที่ได้รับรางวัลซีไรต์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 และเรื่องเดียวกันนี้ได้รับรางวัลนวนิยายดีเด่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติและกระทรวงศึกษาธิการประจำปี 2537
ปัจจุบัน เขาทั้งคู่ไม่มีบุตรด้วยกัน จึงใช้ชีวิตอยู่เงียบๆที่ไร่ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาเขาทำงานด้านการเขียนเพียงอย่างเดียว นอกจากเรื่องสั้นและนวนิยายแล้ว ในระยะหลังยังเขียนบทความและบทภาพยนตร์เพิ่มขึ้น
ผลงาน :
งานเขียนครั้งแรก
เรื่องสั้นเรื่องแรก คือ เรื่อง "นักเรียนนักเลง" เขียนลงในหนังสืออนุสรณ์ปทุมคงคา 2512
ผลงานรวมเล่ม
- ทางชนะ : 2522 เรื่องสั้นกึ่งนิยา
- จนตรอก : 2523 นวนิยายขนาดสั้น
- คำพิพากษา : 2524 (รางวัลซีไรต์) นวนิยาย
- เรื่องธรรมดา : 2526 เรื่องสั้นขนาดยาว
- มีดประจำตัว : 2527 รวมเรื่องสั้นชุดที่ 1
- หมาเน่าลอยน้ำ พ.ศ. 2530 นวนิยายขนาดสั้น
- พันธุ์หมาบ้า : 2531 นวนิยายขนาดยาว
- นครไม่เป็นไร : 2532 รวมเรื่องสั้นชุดที่ 2
- เวลา : 2536 (รางวัลซีไรต์) นวนิยาย
- บันทึก : บันทึกเรื่องราวไร้สาระของชีวิต : 2539 ความเรียง-บันทึก
- รายงานถึง ฯพณฯ นายกรัฐมนตี : 2539 เรื่องสั้นขนาดยาว
- เปลญวนใต้ต้นนุ่น : 2546 รวมบทความของ ชาติ จากนิตยสารสีสัน 2542-2546
- ลมหลง : 2543 บทภาพยนตร์
- บริการรับนวดหน้า : 2548 รวมเรื่องสั้นชุดที่ 3
งานที่ได้รับรางวัล
- เรื่องสั้นเรื่อง ผู้แพ้ ได้รับรางวัล ช่อการะเกด และรางวัลชมเชยจากการคัดเลือกเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี 2522จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
- คำพิพากษา : 2524 (รางวัลซีไรต์) นวนิยาย พิมพ์เผยแพร่มากกว่า20 ครั้ง
- นวนิยายเรื่อง เวลา พ.ศ. 2536 ได้รับรางวัลซีไรท์ เป็นครั้งที่ 2 ปี 2537 และได้รับรางวัลนวนิยายดีเด่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ ประจำปี 2537
ปัจจุบัน
ปัจจุบัน ชาติ กอบจิตติ กับภรรยาซึ่งไม่มีบุตรด้วยกัน ไปใช้ชีวิตเงียบๆ อยู่ในไร่ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และทำงานประพันธ์เป็นอาชีพเพียงอย่างเดียวนอกจากเรื่องสั้นและนวนิยายแล้ว ในระยะหลังยังเขียนบทความและบทภาพยนตร์เพิ่มขึ้นด้วย