วินทร์ เลียววาริณ
เกิดใน บ้าน เลขที่ 113 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2499 แต่ในทะเบียนราษฎร์คือ 3 เมษายน 2499 เนื่องจากการคมนาคมในยุคนั้นไม่สะดวก จึงแจ้งเกิดช้ากว่าวันเกิดจริง ชื่อเดิมคือ สมชัย พ่ออพยพจากเมืองจีน มาตั้งหลักที่หาดใหญ่ ประกอบอาชีพเป็นช่างทำ-ซ่อมรองเท้า แม่ช่วยพ่อทำรองเท้าและเป็นแม่บ้าน ตั้งแต่เด็กคลุกคลีกับการออกแบบรองเท้า การดูช่างฝีมือทำงาน และแก้ปัญหาในการซ่อมทุกรูปแบบ มีส่วนชี้นำให้สนใจด้านการออกแบบ เมื่ออายุเจ็ดขวบ เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนวิริยะเธียรวิทยา โรงเรียนเล็กๆ ที่สอนเพียงชั้นประถมเท่านั้น เรียนซ้ำชั้น ป. 1 ไม่ใช่เพราะสอบตก แต่ครูประจำชั้นเห็นว่าจะทำให้ภูมิแน่นขึ้น! เมื่อผ่านชั้น ป. 3 ไปเรียนต่อชั้น ป. 4 ที่โรงเรียนแสงทองวิทยา หาดใหญ่ เนื่องจากพ่อแม่อยากให้เรียนภาษาอังกฤษด้วย เรียนภาษาอังกฤษจากบาทหลวงฝรั่ง แสงทองวิทยาเป็นโรงเรียนคาทอลิก จึงมีโอกาสเรียนทั้งศาสนาพุทธและคริสต์ ชอบวิชาวาดเขียนเป็นพิเศษ เป็นช่วงเวลาที่อ่านหนังสือนิยายจนหมดห้องสมุด ชอบอ่านหนังสือมากจนสมัครเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดของโรงเรียน อ่านนิยายมากทั้งนอกและในห้องเรียน จนทำให้การเรียนหล่นจากที่ 1 เป็นที่ 25! เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีโอกาสไปเรียนต่อชั้น ม.ศ. 4 ที่กรุงเทพฯ ณ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) รุ่นที่ 3 และเป็นรุ่นแรกที่เรียน ณ ที่ตั้งของโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ปัจจุบัน นี่เป็นจุดหักเหของชีวิต เนื่องจากมีโอกาสสูงที่จะไม่ได้ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯและทำงานเจริญรอยตามพ่อ วินทร์ เลียววาริณ สนใจงานศิลปะตั้งแต่เล็ก ชอบวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ แต่เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีคณะวิชาทางด้านศิลปะให้เลือกมาก จึงเลือกเรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในรุ่น 2518 ระหว่างเรียนหนังสือ เขาเขียนนิยายภาพขายด้วย
วินทร์ เลียววาริณ ได้รับอิทธิพลวิธีการคิดมาจากอาจารย์หลายท่าน เช่น แสงอรุณ รัตกสิกร ซึ่งสอนเรื่องสัจจะในการออกแบบ ความเรียบง่ายคือความงามของ ศิลปะ และธรรมชาติ เรียนการปลูกต้นไม้จากคณะนี้เช่นกัน
หลังจบปริญญาตรี สถ.บ. ได้วันเดียว วินทร์ เลียววาริณ ก็เดินทางไปทำงานที่สิงคโปร์ทันที เป็นสถาปนิกที่สิงคโปร์ราวสามปีเศษ ก็เดินทางไปทำงานเป็นสถาปนิกที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันในตอนกลางคืนก็เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยหลายแห่งโดยไม่เอาปริญญา เช่น กราฟิก ดีไซน์, ภาพยนตร์, แอนิเมชัน, การตัดต่อหนัง และด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกยุคเริ่มต้น ซึ่งเป็นของใหม่ในเวลานั้น เมื่อจบแล้วกลับเมืองไทยมาทำงานในวงการโฆษณา เริ่มชีวิตคนโฆษณาด้วยตำแหน่งผู้กำกับศิลป์ และต่อมาเป็น ครีเอทีฟ ไดเรคเตอร์ ระหว่างนั้นเรียนต่อปริญญาโทด้านการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาจกล่าวได้ว่า วินทร์ เลียววาริณ เริ่มต้นการเขียนหนังสือในรูปนิยายภาพ แต่งเรื่อง และวาดภาพ แต่เริ่มงานเขียนเรื่องสั้นเมื่อเริ่มทำงานโฆษณา เขียนเรื่องสั้นจำนวนหนึ่งเก็บไว้เล่นๆ โดยไม่คิดจะเป็นนักเขียน จวบจนวันหนึ่งเมื่อเรื่องสั้นแนวหักมุมจบ ไฟ ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารอิมเมจ (อยู่ใน สมุดปกดำกับใบไม้สีแดง) ก็เริ่มเขียนจริงจังมากขึ้น ตรงกับช่วงการกลับมาของนิตยสารช่อการะเกดยุคที่สองพอดี จึงกลายเป็นสนามทดลองของเขา งานเขียนแนวทดลองทั้งหมดก็มีจุดเริ่มต้นที่นิตยสารช่อการะเกด รางวัลวรรณกรรมแรกๆ ในชีวิตก็เกิดที่สนามช่อการะเกด เช่น โลกีย-นิพพาน (2535 อยู่ใน อาเพศกำสรวล), การหนีของราษโลกสามใบของ ราษฎร์ เอกเทศ (2538) และ ตุ๊กตา (2541) ได้รับรางวัลช่อการะเกดยอดนิยมประจำปี 2535, 2538 และ 2541 ตามลำดับ (อยู่ใน สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน)
นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลวรรณกรรมอื่นๆ เช่น เช็งเม้ง (2541) ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นจากสมาคมภาษาและหนังสือ ปี 2541 (อยู่ใน สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน), รางวัลซีไรต์สองสมัยจากนวนิยาย ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน (2540) และรวมเรื่องสั้น สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน (2542) ได้รับรางวัลศิลปาธรในปี พ.ศ. 2549
ในปี 2546 วินทร์ เลียววาริณ เลิกทำงานโฆษณาเพื่อ "ขอลองเป็นนักเขียนอาชีพสักปีสองปี ถ้าไม่สำเร็จ จะกลับไปทำงานโฆษณาตามเดิม" ปรากฏว่าเขาไม่ได้หวนกลับไปทำงานนั้นอีกเลยจนทุกวันนี้
จาก www.winbookclub.com