พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือรู้จักในนาม พุทธทาสภิกขุ (27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 — 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536) เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2449 เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี ที่วัดบ้านเกิด จากนั้นได้เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค แต่แล้วท่านพุทธทาสภิกขุก็พบว่าสังคมพระพุทธศาสนาแบบที่เป็นอยู่ในขณะนั้นแปดเปื้อนเบือนบิดไปมาก และไม่อาจทำให้เข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนาได้เลย ท่านจึงตัดสินใจหันหลังกลับมาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านอีกครั้ง พร้อมปวารณาตนเองเป็น พุทธทาส เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด
ผลงานเด่นของทาสพุทธทาสคืองานหนังสือ อาทิ หนังสือพุทธธรรม, ตามรอยพระอรหันต์ และคู่มือมนุษย์ และเป็นสงฆ์ไทยรูปแรกที่บุกเบิกการใช้โสตทัศนูปกรณ์สมัยใหม่สำหรับการเผยแพร่ธรรมะ และท่านมีสหายธรรมคนสำคัญ คือ ปัญญานันทภิกขุ แห่งวัดชลประทานรังสฤษฎ์ และ ท่าน บ.ช. เขมาภิรัตน์
ประวัติ
ครอบครัว
บ้านที่ท่านพุทธทาสภิกขุเกิด
ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2529 ซึ่งไม่เหลือเค้าเดิมมากนัก โดยบ้านเดิมนั้นเป็นพื้นดิน และหลังคามุงจาก
บ้านที่ท่านพุทธทาสภิกขุโตขึ้นมา
ภาพนี้ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2529 ท่านพุทธทาสภิกขุย้ายมาอยู่บ้านหลังนี้ตั้งแต่ยังเล็ก และบิดามารดาของท่านพุทธทาสภิกขุก็ใช้บ้านเป็นร้านค้าชื่อ
ไชยาพานิช ไปในตัว
นายเซี้ยง พานิช
บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุ
นางเคลื่อน พานิช
มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุ
ท่านพุทธทาสภิกขุมีนามเดิมว่า เงื่อม พานิช เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเมีย หรือวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 ในสกุลของพ่อค้า ที่ตลาดพุมเรียงอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านพุทธทาสภิกขุเกิดในช่วงเวลาปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นพุมเรียงยังเป็นที่ตั้งของตัวเมืองไชยา หรือจังหวัดไชยา ก่อนที่จะกลายมาเป็นจังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน
บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ เซี้ยง พานิช ประกอบอาชีพหลักคือการค้าขายของชำ บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุมีเชื้อสายจีน เนื่องจากปู่ของท่านพุทธทาสภิกขุอพยพจากมณฑลฮกเกี้ยนในประเทศจีน มาเป็นช่างเขียนภาพสีบนกระจกที่เมืองไชยา ย่าของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อส้มจีน ซึ่งเชื้อสายของย่าอพยพจากอำเภอปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราช มาอยู่เมืองไชยาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมบิดาของท่านพุทธทาสภิกขุใช้แซ่โข่วหรือข่อ (หรือโค้ว ในสำเนียงแต้จิ๋ว) ต่อมาเมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุลในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการจึงเปลี่ยนนามสกุลของบิดาท่านเป็น พานิช เพราะตอนนั้นมีเพียงครอบครัวของท่านเท่านั้นที่ทำการค้าขาย
งานอดิเรกที่รักยิ่งของบิดาท่านพุทธทาสภิกขุคืองานด้านช่างไม้ โดยในเวลาว่าง บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุจะทำการต่อเรือไม้เป็นอาชีพเสริม ซึ่งทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุสนใจ และชอบในงานด้านนี้ไปด้วย แม้ที่สวนโมกขพลาราม งานไม้ส่วนใหญ่ก็เกิดจากการทำกันเองของคณะสงฆ์ นอกจากนี้ บิดาของท่านพุทธทาสภิกขุยังมีความสามารถในทางกวี ซึ่งความสามารถด้านนี้ส่งอิทธิพลต่อท่านพุทธทาสภิกขุเป็นอย่างมาก โดยผลงานธรรมะของท่านพุทธทาสภิกขุส่วนหนึ่งได้ประพันธ์ไว้ในรูปร้อยกรอง ซึ่งมีความไพเราะ และดึงดูดใจให้คนทั้งหลายเข้าถึงเนื้อหาธรรมะได้ง่ายขึ้น
มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ เคลื่อน พานิช เกิดที่อำเภอท่าฉาง ตาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อเล่ง มียศเป็นขุนสิทธิสาร ปกครองหัวเมืองกระแดะ หรืออำเภอกาญจนดิษฐ์ในปัจจุบัน ครอบครัวของตายายมีความมั่นคงในพระพุทธศาสนา และมีการปฏิบัติสมาธิภาวนากันภายในบ้านเรือน ทำให้มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ซึ่งความศรัทธาในพระพุทธศาสนานี้ได้ส่งต่อมาที่บุตร และหล่อหลอมให้เด็กชายเงื่อม พานิช กลายเป็นท่านพุทธทาสภิกขุในเวลาต่อมา
ท่านพุทธทาสภิกขุมีน้องสองคน ซึ่งมีอายุห่างจากท่านพุทธทาสภิกขุ 3 ปี และ 6 ปี ตามลำดับ น้องคนโตเป็นชาย ชื่อ ยี่เกย พานิช ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็นธรรมทาส พานิช และได้เป็นกำลังหลักของคณะธรรมทานในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา และสนองงานของท่านพุทธทาสภิกขุ ส่วนน้องสาวคนสุดท้องของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ กิมซ้อย พานิช ซึ่งภายหลังแต่งงานไปอยู่บ้านดอน และใช้นามสกุลสามีว่า เหมะกุล
บรรพชิต
ท่านพุทธทาสภิกขุเมื่อแรกบวช
ท่านพุทธทาสภิกขุได้บวชเรียนตามประเพณี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 ที่โรงอุโบสถวัดอุบล หรือวัดนอก ก่อนจะย้ายมาประจำอยู่ที่วัดพุมเรียง มีพระอุปัชฌาย์คือ พระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) รองเจ้าคณะเมืองในสมัยนั้น และมีพระปลัดทุ่ม อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดอุบล และ พระครูศักดิ์ ธมฺรกฺขิตฺโต เจ้าอาวาสวัดวินัย หรือวัดหัวคู เป็นพระคู่สวดท่านพุทธทาสภิกขุได้รับฉายาว่า อินทปญฺโญ ซึ่งแปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่
การบวชของท่านพุทธทาสภิกขุเป็นไปตามธรรมเนียม และไม่คิดที่จะบวชไม่สึก ดังที่ท่านปัญญานันทภิกขุอ้างถึงคำพูดของท่านพุทธทาสภิกขุก่อนที่จะบวชไว้ว่า
- เรื่องบัญชี บัญน้ำ เก็บไว้ก่อน เมื่อสึกออกมาแล้วค่อยมาทำต่ออีก
ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าถึงมูลเหตุการบวชของตนเองไว้ว่า
- เท่าที่นึกได้ เท่าที่จำได้นี่ เขาปรึกษากันบ่อยๆ ในหมู่ผู้ใหญ่ อย่างว่าเวลาอามาพบ ก็จะปรึกษากันเรื่องอยากให้บวช ป้า น้า ญาติพี่น้องก็ปรึกษากันอยากให้บวช แต่จำไม่ได้ว่ามีประโยคที่โยมพูดว่าบวชเถอะๆ เรา ตามใจเขา เราแล้วแต่เขา ความรู้สึกรักษาประเพณีมันทำให้เกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา มันรู้สึกคล้ายๆ กับว่าไม่ครบหรือไม่สมบูรณ์ถ้าไม่เคยบวช มันจึงยินดีที่จะบวช คำสั่งให้บวชหรือคำชี้แจงแนะนำอย่างโดยตรงก็ไม่เคยได้รับ แต่มันรวมพร้อมกัน จากการได้ยินบ่อยๆ ได้รับความรู้สึกบ่อยๆ แปลกเหมือนกัน ถ้าจะเอากันจริงๆ ว่าใครเป็นคนสั่ง ใครเป็นคนรับ ใครเป็นคนแนะนำ มันไม่มี มันนึกไม่ออก ที่ถูกมันเป็นความเห็นพ้องกันหมดว่าต้องบวช ควรบวช แต่นี่มันรู้แน่ ๆ ก็คือความประสงค์อย่างยิ่งของโยม แต่คำสั่งนั้นไม่เคยได้รับ คำขอร้องก็ไม่เคยได้รับ ส่วนความคิดของตัวเองนั้นผมคงเห็นว่าบวชก็ได้ ไม่บวชก็ได้ ตามพันธสัญญาก็จะบวชให้โยม 1 พรรษา คือ 3 เดือน คนหนุ่มสมัยนั้นเมื่ออายุครบบวชก็บวชกันเป็นส่วนมาก
หลังจากบวชได้เพียง 10 วัน ท่านพุทธทาสภิกขุก็ได้รับโอกาสให้ขึ้นแสดงธรรม ในการนี้ท่านได้ปฏิวัติการเทศน์เสียใหม่ คือแทนที่จะเทศน์โดยอ่านจากคัมภีร์ใบลานอย่างเดียว ก็นำเนื้อหาจากหลักสูตรนักธรรมไปประกอบขยายความ ทำให้การเทศน์เป็นไปด้วยความสนุกและเข้าใจง่าย ผู้ที่ได้ฟังจึงติดใจและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในขณะนั้น พระที่พอจะเทศน์ได้ในวัดล้วนแต่อิดเอื้อนไม่อยากเทศน์ จึงเป็นเป็นโอกาสให้ท่านพุทธทาสภิกขุได้ขึ้นเทศน์ทุกวันในพรรษาเทศน์ และเทศน์ทุกวันพระในช่วงนอกพรรษา ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุก็รักชอบที่จะทำงานนี้
นอกจากการเทศน์แล้ว ช่วงพรรษาแรกท่านพุทธทาสภิกขุยังได้เรียนนักธรรม และเพลิดเพลินอยู่กับการอ่านและเขียนหนังสือ รวมทั้งการคัดลอกและซ้อมแต่งกระทู้ จนทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุสอบได้นักธรรมตรีในพรรษานี้เอง กิจวัตรการนั่งกับที่เป็นเวลานานทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นโรคกระษัย แต่ท่านก็รักษาด้วยตนเองจนหายในพรรษาต่อๆ ไป
นอกจากการเทศน์และการเรียนนักธรรมแล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุยังได้เขียนหนังสือพิมพ์เถื่อนลงในกระดาษฟุลสแก๊ป เป็นเรื่องขำขันให้ผู้อื่นได้หัวเราะกันภายในวัด เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าให้ฟังเอาไว้ว่า
- ผมออกหนังสือพิมพ์เถื่อนเป็นกระดาษฟุลสแก๊ป 2 คู่ มันเป็นเรื่องสนุกเท่านั้น เราเขียนก่อนสวดมนต์ต์ตอนค่ำ พอพระสวดมนต์ต์เสร็จ เราก็เอามาให้อ่านกัน เขาอ่านแล้วหัวเราะ วิพากษ์วิจารณ์กัน เรามีความอวดดี ที่จะทำให้คนอื่นเขาหัวเราะได้ รู้สึกว่ามันทำให้เพื่อนสบายใจ จิตมันเป็นบุญเป็นกุศล ไม่ได้คำนึงถึงสาระอะไรในตอนแรก
พรรษาที่สอง
นายธรรมทาส พานิช
ภาพนี้ถ่ายในชุดนักเรียนของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
แม้แต่เดิมท่านตั้งใจจะบวชเรียนตามประเพณีเพียง 3 เดือน แต่เมื่อได้ใช้ชีวิตเป็นพระแล้ว ความยินดีในกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการเอาอกเอาใจจากพุทธบริษัทรอบข้าง ทำให้ท่านพุทธทาสภิกขุไม่มีความคิดที่จะลาสิกขา อีกทั้งพระภิกษุในวัดหลายรูปเห็นว่าท่านพุทธทาสภิกขุเรียนหนังสือเก่งและเทศนาดี จึงหนุนให้ท่านพุทธทาสภิกขุอยู่ที่วัดต่อไปเพื่อเป็นกำลังในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา
เล่ากันว่าเจ้าคณะอำเภอเคยถามท่านพุทธทาสภิกขุในพรรษานี้ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรในการใช้ชีวิต ท่านพุทธทาสภิกขุตอบว่า
- ผมคิดว่าจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุด... แต่ถ้ายี่เกยจะบวชผมก็ต้องสึกออกไปอยู่บ้านค้าขาย
ท่านเจ้าคณะอำเภอจึงไปคุยกับโยมแม่ของท่านพุทธทาสภิกขุว่าท่านพุทธทาสภิกขุควรจะอยู่เป็นพระต่อไป ส่วนน้องชายของท่านนั้นไม่ต้องบวชก็ได้ เพราะมีชีวิตเหมือนพระอยู่แล้ว คือ เป็นคนมักน้อย สันโดษ การกินอยู่เรียบง่าย และตัดผมสั้นเกรียนตลอดเวลา ในการนี้ ทำให้นายธรรมทาส น้องชายของท่านพุทธทาสภิกขุ ไม่ได้บวช และยอมละทิ้งการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มารับผิดชอบหน้าที่ทางบ้าน เพื่อให้ท่านพุทธทาสภิกขุเจริญสมณธรรมต่อไป
ชีวิตสมณเพศในพรรษาที่สองของท่านพุทธทาสภิกขุไม่ต่างจากพรรษาแรกมากนัก ท่านพุทธทาสภิกขุได้ศึกษานักธรรมต่อ และสอบได้นักธรรมโทในพรรษานี้
เมื่อออกพรรษาได้ไม่นาน ช่วงต้นปี พ.ศ. 2471 อาเสี้ยง น้องชายของบิดาท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ผลักดันให้ท่านพุทธทาสภิกขุเข้าศึกษาความรู้ทางธรรมต่อที่กรุงเทพฯ ท่านพุทธทาสภิกขุพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า
- ออกพรรษาแล้วไม่นาน ก็เดินทางไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ อาที่ชุมพรเป็นคนยัดเยียดให้ไป มันเป็นธรรมเนียมโดยมากด้วยว่าเมื่อได้นักธรรมโทแล้ว ถ้าจะเรียนต่อ เป็นโอกาสที่พอเหมาะพอดีที่จะเข้ากรุงเทพฯ พระครูชยาภิวัฒน์ (มหากลั่น) ซึ่งอยู่ทางโน้นก็เห็นว่าดี อาที่ชุมพรมีส่วนยุที่สำคัญ อยากให้เรียนมากๆ เพื่อเป็นเกียรติเป็นอะไรของวงศ์ตระกูลมากกว่า แต่แกไม่มีความคิดว่าจะไม่ให้สึก ถึงแม้จะสึกก็ให้เรียนมากๆ เข้าไว้หลายปี คงจะดีกว่ารีบสึก
ท่านพุทธทาสภิกขุได้เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ที่วัดปทุมคงคา โดยอาศัยกับพระครูชยาภิวัฒน์ (กลั่น) ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับท่านพุทธทาสภิกขุ และได้มาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน สำหรับท่านพุทธทาสภิกขุ ซึ่งไม่เคยเดินทางไปกรุงเทพฯ มาก่อนเลย มีความคิดว่ากรุงเทพฯ นั้นคือเมืองคือศูนย์กลางความเจริญในทุกด้าน รวมทั้งพระพุทธศาสนา เนื่องกรุงเทพฯ เป็นแหล่งความรู้ด้านปริยัติ ท่านพุทธทาสภิกขุจึงวาดภาพไว้ว่าพระเณรในกรุงเทพฯ จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย ถึงขนาดคิดว่าจะมีพระอรหันต์อยู่เต็มไปทั้งกรุงเทพฯ ดังคำพูดที่ว่า
- ก่อนไปถึงกรุงเทพฯ เราก็เคยคิดว่า พระที่กรุงเทพฯ มันไม่เหมือนที่บ้านเรา พระกรุงเทพฯ จะดี เคยคิดว่าคนที่ได้เปรียญ 9 คือคนที่เป็นพระอรหันต์ด้วยซ้ำไป เคยคิดว่ากรุงเทพฯ ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ควรจะถือเป็นตัวอย่าง เคยนึกว่าพระอรหันต์เต็มไปทั้งกรุงเทพฯ ก่อนไปกรุงเทพฯ มันคิดอย่างนั้น
แต่กรุงเทพฯ ที่ท่านพุทธทาสภิกขุพบเห็นนั้น ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ที่ท่านพุทธทาสภิกขุคิดไว้ลิบลับเหลือเกิน ท่านพุทธทาสภิกขุประสบกับตนเองว่าศีลาจารวัตรของพระเณรเมืองกรุงนั้นออกนอกลู่นอกทางยิ่งกว่าพระเณรบ้านนอก ที่อยู่กันตามประสาคนไม่มีความรู้เสียอีก ท่านพุทธทาสภิกขุได้เล่าถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า
- แต่พอไปเจอจริงๆ มันรู้ว่ามหาเปรียญมันไม่มีความหมายอะไรนัก มันก็เริ่มเบื่อ อยากสึก รู้สึกว่าเรียนที่กรุงเทพฯ มันไม่มีอะไรเป็นสาระ เรียนที่กรุงเทพฯ มันอยากจะสึกอยู่บ่อยๆ พระเณรไม่ค่อยมีวินัย มันผิดกับบ้านนอก มันก็เป็นมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ เรื่องสตางค์เรื่องผู้หญิง...
- มันเคร่งกว่ามาก ไม่ใช่เฉพาะที่พุมเรียงหรอก ตลอดปักษ์ใต้แหละ เคร่งกว่าที่กรุงเทพฯ มาก เรื่องเกี่ยวกับการกินการฉันก็สรวลเสเฮฮาเหมือนกับคนเมา ฮาฮาตลอดเวลาฉัน ลักษณะนั้นเราเรียนไปตั้งแต่โรงเรียนนักธรรมว่ามันใช้ไม่ได้นี่ อย่างมาต่อยไข่สดต้มไข่หวานหรือทอดประเคนกันเดี๋ยวนั้นเลย มันผิดวินัย แต่เขาทำกันเป็นธรรมดา เรียกว่ามันไม่มีอะไรที่น่าเลื่อมใสเลย ผิดกับวัดที่บ้านนอก เราก็ต้องเป็นพระที่จับสตางค์ ใช้สตางค์เหมือนเขาไปหมด ตามธรรมดาพระที่พุมเรียง สมัยผมบวชเขาไม่จับเงินจับทองกัน มีผู้ช่วยเก็บให้ แล้วมันค่อยๆ เปลี่ยน ไม่จับแต่ต่อหน้าคน ในกรุงเทพฯ มันเป็นโรคร้ายระบาดทั่วกรุงเทพฯ อยู่หัวเมืองมันยังมีอิทธิพลในทางเคร่งครัดแบบเก่าอยู่
ท่านพุทธทาสภิกขุเห็นเข้าอย่างนี้ก็เกิดเป็นความเอือมระอาในชีวิตสมณเพศอย่างหนัก หลังจากอยู่กรุงเทพฯ ได้เพียง 2 เดือนก็กลับมาที่พุมเรียงเพื่อจะลาสิกขา แต่ขณะนั้นเป็นช่าวงใกล้เวลาจะเข้าพรรษาแล้ว มีผู้ทักท้วงว่าจะลาสิกขาตอนนี้ยังไม่เหมาะ ท่านพุทธทาสภิกขุจึงตัดสินใจครองสมณเพศอีกพรรษาหนึ่ง และคิดว่าค่อยลาสิกขาบทเมื่อออกพรรษาไปแล้ว
พรรษาที่สามและสี่
อาคารโรงเรียนนักธรรมที่ท่านพุทธทาสภิกขุเคยสอน
พิมพ์ดีดเครื่องแรกที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับเป็นรางวัลในฐานะที่สอนนักธรรมได้ผลดี
ในพรรษาที่สาม ท่านพุทธทาสภิกขุสอบนักธรรมเอกได้ เมื่อออกพรรษา คุณนายหง้วน เศรษฐภักดี ซึ่งเป็นผู้บริจาคเงินสร้างโรงเรียนนักธรรมที่วัดพระบรมธาตุไชยา และเป็นญาติของท่านพุทธทาสภิกขุ รวมทั้งพระครูโสภณเจตสิการาม (เอี่ยม) รองเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุไชยาในสมัยนั้น ได้ชักชวนให้ท่านพุทธทาสภิกขุมาเป็นอาจารย์สอนนักธรรมอยู่ที่วัดพระบรมธาตุไชยาแห่งนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุจึงได้เลื่อนกำหนดการลาสิกขาไว้ก่อน และมาเป็นอาจารย์สอนนักธรรมอยู่หนึ่งปี กลวิธีการสอนของท่านพุทธทาสภิกขุชวนติดตาม ทำให้นักเรียนของท่านสอบได้หมดยกชั้น เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุได้เล่าเอาไว้ว่า
- สอนนักธรรมนี่ก็สนุก สอนคนเดียว 2 ชั้น มันคุยได้ว่าสอบได้หมด แต่ตามหลักฐานที่ปรากฏตกไปองค์หนึ่ง เพราะใบตอบหาย ก็กลายเป็นครูที่มีชื่อเสียงขึ้นมาทันที มันสนุก เพราะเป็นของใหม่ และมันชักจะอวด ๆ อยู่ว่าเราพอทำอะไรได้ หาวิธียักย้ายสอนให้มันสนุก ไม่เหมือนกับที่เขาสอนๆ กันอยู่ เช่นผมมีวิธีเล่า วิธีพูดให้ชวนติดตาม หรือให้ประกวดกันตอบปัญหา ทำนองชิงรางวัล นักเรียนก็เรียนกันสนุก ก็สอบได้กัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ คุณนายหง้วนจึงได้ซื้อเครื่องพิมพ์ดีดยี่ห้อเรมิงตันแบบกระเป๋าหิ้วให้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นรางวัล และท่านพุทธทาสภิกขุได้ใช้เครื่องนี้มาเป็นเวลาหลายสิบปี
ในขณะเดียวกันนี้เอง นายธรรมทาสก็ได้รวบรวมญาติมิตรที่สนใจในพระพุทธศาสนามาจัดตั้งเป็นคณะขึ้น ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2472 และนี่คือจุดเริ่มก่อนที่จะกลายเป็นคณะธรรมทานในเวลาต่อมา เรื่องนี้ท่านพุทธทาสภิกขุเล่าให้ฟังว่า
- นายธรรมทาสเขามีนิสัยอยากส่งเสริมพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง ตั้งแต่ตอนที่เขาไปเรียนเตรียมแพทย์ที่จุฬาฯ (พ.ศ. 2469) เขาไปพบบทความเกี่ยวกับการเผยแผ่พุทธศาสนาทางสมาคมมหาโพธิ ของธรรมปาละ และหนังสือยังอิสต์ ของญี่ปุ่น ได้เร้าใจให้เขาเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา และหาหนังสือทางพุทธศาสนามาจากหอสมุดนั้นมาอ่านเสมอ พอกลับมาบ้าน (พ.ศ. 2470) ก็มาตั้งหีบหนังสือให้คนอื่นอ่านกันในเวลาต่อมา (พ.ศ. 2472) รวบรวมหนังสือธรรมะที่หาได้ในสมัยนั้น รวมทั้ง เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ไทยเขษม วิสาขะ เป็นต้น ก็ก่อหวอดให้เกิดความสนใจในหมู่คนแถวนั้น ไม่กี่คนหรอก จับกลุ่มสนทนากันเรื่องจะทำพุทธศาสนาให้มันบริสุทธิ์ ให้มันถูกต้องอย่างไร ต่อมาคนเหล่านี้ก็เป็นกำลังตั้งสวนโมกข์และคณะธรรมทาน มีนายเที่ยง จันทเวช นายดาว ใจสะอาด นายฉัว วรรณกลัด นายเนิน วงศ์วานิช นายกวย กิ่วไม้แดง เป็นตัวตั้งตัวตี นายธรรมทาสเขาได้รู้จักกับชาวลังกาชื่อสิริเสนา ที่มาพักอยู่ที่บ้านท่าโพธิ์ จึงได้รู้เรื่องกิจการของสมาคมมหาโพธิ และอนาคาริกะธรรมปาละ ซึ่งพยายามฟื้นฟูพุทธศาสนาในลังกาและอินเดีย นายธรรมทาสเขาก็มีจดหมายติดต่อรับหนังสือมหาโพธิ ต่อมาก็รับ บริติชบุดดิสต์ ของสมาคมมหาโพธิ ลอนดอน บุดดิสต์ อิน อิงแลนด์ และ บุดดิสต์ แอนนวล ออฟซีลอน ทำให้เขารู้ว่าข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพุทธศาสนาในต่างประเทศ
สู่กรุงเทพฯ อีกครั้ง
ท่านพุทธทาสภิกขุขณะกำลังศึกษาในกุฎิที่พัก วัดปทุมคงคา
เมื่อหมดหน้าที่สอนนักธรรมแล้ว อาเสี้ยงก็เร่งเร้าให้ท่านพุทธทาสภิกขุเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง โดยหวังให้หยิบพัดยศมหาเปรียญมาไว้เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล ท่านพุทธทาสภิกขุจึงเข้ากรุงเทพฯ อีกคราวหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2473 เมื่ออยู่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุคิดเพียงแต่จะมุ่งเรียนภาษาบาลีเท่านั้น และทิ้งเรื่องการลาสิกขาเอาไว้ก่อน แต่ท่านพุทธทาสภิกขุไม่ได้เข้าเรียนในช่วงกลางวัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการสอนที่อืดอาด ไม่ทันใจ จึงให้พระครูชยาภิวัฒน์ (กลั่น) สอนพิเศษในช่วงกลางคืน นอกจากการเรียนภาษาบาลีแล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุยังสนใจในเรื่อง การท่องเที่ยว การถ่ายภาพ เครื่องพิมพ์ดีด เครื่องเล่นวิทยุ เครื่องเล่นแผ่นเสียง ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ ข่าวสารบ้านเมือง ทั้งยังติดตามงานเขียนของปัญญาชนทั้งหลายในสมั้ยนั้น ไม่ว่าจะเป็น ครูเทพ น.ม.ส. พระองค์วรรณฯ เสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป และหลวงวิจิตรวาทการ
เมื่อประกาศผลสอบปีแรก ปรากฏว่าท่านพุทธทาสภิกขุสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค และกลายเป็นพระมหาเงื่อม อินทปญฺโญ ในปีเดียวกันนี้เอง ท่านพุทธทาสภิกขุมีงานเขียนเป็นบทความขนาดสั้นชิ้นแรก ชื่อ ประโยชน์แห่งทาน ปรากฏอยู่ในหนังสือที่พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) พระอุปัชฌาย์ของท่านพุทธทาสภิกขุ และมีบทความขนาดยาวเรื่อง พระพุทธศาสนาสำหรับปุถุชน พิมพ์ในหนังสือที่ระลึกครบรอบโรงเรียนนักธรรม วัดพระบรมธาตุไชยา
มรณกรรม
ร่างของท่านพุทธทาสภิกขุ ขณะถูกฌาปนกิจ ณ สวนโมกขพลาราม
เกียรติคุณ
สมณศักดิ์
ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับสมณศักดิ์ตามลำดับ ดังนี้
- พ.ศ. 2469 พระเงื่อม
- พ.ศ. 2473 พระมหาเงื่อม
- พ.ศ. 2489 พระครูอินทปัญญาจารย์
- พ.ศ. 2493 พระอริยนันทมุนี พระราชาคณะชั้นสามัญ
- พ.ศ. 2500 พระราชชัยกวี พระราชาคณะชั้นราช
- พ.ศ. 2514 พระเทพวิสุทธิเมธี พระราชาคณะชั้นเทพ
- พ.ศ. 2530 พระธรรมโกศาจารย์ พระราชาคณะชั้นธรรม
ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในสาขาต่างๆ จากสถาบันต่างๆ ดังนี้
- 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 พุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 อักษรศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาปรัชญาและศาสนา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร
- 3 ธันวาคม พ.ศ. 2528 ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง
- 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาครุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาปรัชญา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาพัฒนศึกษาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อื่นๆ
นอกจากสมณศักดิ์และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แล้ว ท่านพุทธทาสภิกขุยังได้รับการยกย่องจากองค์กรต่างๆ ดังนี้
- พ.ศ. 2508 หนังสือแก่นพุทธศาสน์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ หนังสือดีประจำปี พ.ศ. 2508 จากองค์การยูเนสโก
- พ.ศ. 2527 ได้รับคัดเลือกเป็นบุคคลทำประโยชน์ฝ่ายบรรพชิตเนื่องในโอกาสสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ได้รับรางวัลเป็นสัญลักษณ์เสาอโศก และเงินสดจำนวน 10,000 บาท
- พ.ศ. 2537 คุรุสภาประกาศยกย่องเชิดชูว่าเป็นผู้ทำคุณประโยชน์อย่างสูงยิ่งต่อการศึกษาชาติ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี กระทรวงศึกษาธิการ
- 20 ตุลาคม พ.ศ. 2548 องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่องให้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีของมวลมนุษย์
- พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทย รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ได้พร้อมใจกันจัดกิจกรรมทางธรรมะเนื่องในโอกาสรำลึกครบรอบ 100 ปี ชาตกาล ท่านพุทธทาสภิกขุ
ผลงาน
ท่านพุทธทาสมีผลงานที่เรียบเรียงเป็นหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น
- แก่นพุทธศาสน์
- คู่มือมนุษย์
- ตัวกูของกู ฉบับย่อความ
- ธรรมโฆษณ์ รายละเอียด
- ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์
- พระพุทธเจ้าสอนอะไร
- พุทธประวัติจากพระโอษฐ์
- ภาษาคน-ภาษาธรรม
- หนังสือพิมพ์พุทธสาสนา
- อิทัปปัจจยตา (100 หนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน)